Display mode (Doesn't show in master page preview)

26 พฤษภาคม 2566

Econ Digest

ค่าเงินบาท และตลาดหุ้นไทย (สัปดาห์ที่ 22-26 พ.ค. 66)

คะแนนเฉลี่ย

สรุปความเคลื่อนไหวค่าเงินบาท

  • เงินบาททยอยอ่อนค่าลงสอดคล้องกับสกุลเงินในภูมิภาคและสถานะขายสุทธิหุ้นและพันธบัตรไทยของนักลงทุนต่างชาติ ขณะที่ตลาดยังคงติดตามสถานการณ์การเมืองของไทยอย่างใกล้ชิด นอกจากนี้เงินดอลลาร์ฯ ขยับแข็งค่าขึ้นตามการปรับขึ้นของบอนด์ยีลด์สหรัฐฯ และยังมีแรงหนุนจากถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่เฟดและข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ดีกว่าที่คาด ซึ่งกระตุ้นให้ตลาดบางส่วนกลับมาประเมินโอกาสความเป็นไปได้ของการปรับขึ้นดอกเบี้ยสหรัฐฯ ในเดือนมิ.ย.ใหม่อีกครั้ง เงินบาทแตะระดับอ่อนค่าสุดในรอบกว่า 2 เดือนที่ 34.77 บาทต่อดอลลาร์ฯ ก่อนลดช่วงอ่อนค่าลงมาได้บางส่วนช่วงปลายสัปดาห์ ขณะที่ตลาดกลับมารอติดตามผลการประชุมกนง. (31 พ.ค.) และ ข้อสรุปของการเจรจาปรับเพิ่มเพดานหนี้ของสหรัฐฯ      
  • สัปดาห์ระหว่างวันที่ 29 พ.ค. – 2 มิ.ย. 2566 KBank คาดกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทที่ 34.30-34.90 บาทต่อดอลลาร์ฯ ปัจจัยที่ต้องติดตาม ได้แก่ ผลการประชุมกนง. (31 พ.ค.) สถานการณ์การเมืองในประเทศ ตัวเลขการส่งออก/รายงานเศรษฐกิจการเงินเดือนเม.ย. ของไทย ทิศทางเงินทุนต่างชาติ ผลการเจรจาปรับเพิ่มเพดานหนี้ของสหรัฐฯ ข้อมูลตลาดแรงงานเดือนพ.ค. ของสหรัฐฯ ตลอดจนดัชนี PMI ภาคการผลิตเดือนพ.ค. ของสหรัฐฯ จีน ยูโรโซน และอังกฤษ


สรุปความเคลื่อนไหวตลาดหุ้นไทย

  • ดัชนีหุ้นไทยชะลอลงปลายสัปดาห์ แต่ยังปิดสูงกว่าสัปดาห์ก่อน ทั้งนี้หุ้นไทยดีดตัวขึ้นในช่วงแรกตามแรงซื้อคืนหลังร่วงลงแรงก่อนหน้านี้ ประกอบกับนักลงทุนคลายความกังวลบางส่วนต่อประเด็นการเมือง หลังจากมีความชัดเจนเกี่ยวกับ MOU ในการจัดตั้งรัฐบาลผสม ขณะที่หุ้นกลุ่มแบงก์ดีดตัวขึ้นรับโอกาสการปรับขึ้นดอกเบี้ยของกนง.ในการประชุมวันที่ 31 พ.ค. นี้ อย่างไรก็ดี หุ้นไทยย่อตัวลงช่วงปลายสัปดาห์ เนื่องจากนักลงทุนกลับมารอติดตามประเด็นการเมืองในประเทศและการเจรจาเพื่อปรับเพิ่มเพดานหนี้ของสหรัฐฯ นอกจากนี้หุ้นกลุ่มพลังงานยังย่อตัวลงตามราคาน้ำมันในตลาดโลก หลังมีข่าวว่า OPEC+ อาจไม่ปรับลดกำลังการผลิตเพิ่มเติมในการประชุมรอบหน้า
  • สัปดาห์ที่ 29 พ.ค. – 2 มิ.ย. 2566 KSecurities คาดแนวรับที่ 1,520 และ 1,500 จุด ขณะที่ แนวต้านอยู่ที่ 1,545 และ 1,555 จุด ตามลำดับ โดยปัจจัยที่ต้องติดตาม ได้แก่ การประชุมกนง. (31 พ.ค.) ทิศทางเงินทุนต่างชาติ ปัญหาเพดานหนี้สหรัฐฯ สถานการณ์การเมืองในประเทศ ข้อมูลตลาดแรงงานเดือนพ.ค. ของสหรัฐฯ ดัชนี PMI ภาคการผลิตเดือนพ.ค. ของสหรัฐฯ จีน ญี่ปุ่นและยูโรโซน รวมถึงดัชนีราคาผู้บริโภคเดือนพ.ค. (เบื้องต้น) ของยูโรโซน

Scan QR Code


QR Code

หมายเหตุ

รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น