สรุปความเคลื่อนไหวค่าเงินบาท
- เงินบาทแข็งค่าช่วงกลาง-ปลายสัปดาห์ท่ามกลางแรงขายเงินดอลลาร์ฯ จากการคาดการณ์เรื่องการปรับลดดอกเบี้ยของเฟด ทั้งนี้เงินบาทอ่อนค่าลงในช่วงต้นสัปดาห์ตามทิศทางเงินหยวนและสกุลเงินส่วนใหญ่ในภูมิภาคซึ่งเผชิญแรงกดดันจากความกังวลต่อประเด็นทางด้านการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน หลังจากนายโดนัลด์ ทรัมป์กล่าวถึงการเตรียมเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนเพิ่มขึ้นอีก อย่างไรก็ดี เงินบาทฟื้นตัวแข็งค่ากลับมาช่วงกลาง-ปลายสัปดาห์สอดคล้องกับการปรับตัวขึ้นของราคาทองคำในตลาดโลก และเงินเยนซึ่งได้รับอานิสงส์จากการคาดการณ์ถึงโอกาสความเป็นไปได้ในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของ BOJ ในเดือนธ.ค. ขณะที่ เงินดอลลาร์ฯ เผชิญแรงขายสอดคล้องกับการปรับตัวลงของบอนด์ยีลด์สหรัฐฯ หลังตัวเลขเงินเฟ้อที่วัดจากดัชนีราคา PCE และ Core PCE เพิ่มขึ้นตามที่ตลาดคาด โดยข้อมูลดังกล่าวกระตุ้นให้ตลาดกลับมาประเมินว่า ยังคงมีความเป็นไปได้ที่เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงในการประชุมเดือนธ.ค. นี้
- สัปดาห์ระหว่างวันที่ 2-6 ธ.ค. 2567 KBank คาดกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทที่ 33.90-34.60 บาทต่อดอลลาร์ฯ ปัจจัยที่ต้องติดตาม ได้แก่ อัตราเงินเฟ้อเดือนพ.ย. ของไทย ทิศทางเงินทุนต่างชาติ สกุลเงินเอเชียและราคาทองคำในตลาดโลก ข้อมูลตลาดแรงงานเดือนพ.ย. ของสหรัฐฯ รายงานสรุปภาวะเศรษฐกิจและถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่เฟด ตัวเลขจีดีพีไตรมาส 3/2567 ของยูโรโซน ตลอดจนดัชนี PMI ภาคการผลิต/ภาคบริการเดือนพ.ย. ของสหรัฐฯ ญี่ปุ่น จีน ยูโรโซน อังกฤษ
สรุปความเคลื่อนไหวตลาดหุ้นไทย
- ตลาดหุ้นไทยปรับตัวลงท่ามกลางหลายปัจจัยกดดัน ทั้งนี้ดัชนีหุ้นไทยทยอยปรับตัวลงตั้งแต่ช่วงต้นสัปดาห์ แม้ในระหว่างสัปดาห์จะมีปัจจัยบวกจากตัวเลขส่งออกเดือนต.ค.ของไทยที่ขยายตัวดีกว่าคาด ทั้งนี้ปัจจัยที่กดดันดัชนีหุ้นไทย ได้แก่ แรงขายเพื่อปรับพอร์ตตามการปรับ MSCI Rebalance ซึ่งมีผลในวันที่ 25 พ.ย. 2567 แรงขายทำกำไรหุ้นกลุ่มพลังงานตามการปรับตัวลงของราคาน้ำมันในตลาดโลกหลังสถานการณ์ตึงเครียดในตะวันออกกลางระหว่างอิสราเอลและเลบานอนคลี่คลายลง ตลอดจนความกังวลเกี่ยวกับประเด็นสงครามการค้าหลังนายโดนัลด์ ทรัมป์ ว่าที่ประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐฯ ระบุว่าจะเพิ่มภาษีนำเข้าสินค้าจากเม็กซิโก แคนาดาและจีน ดัชนีหุ้นไทยร่วงลงต่อเนื่องจนถึงช่วงท้ายสัปดาห์ โดยมีแรงกดดันเพิ่มเติมจากแรงขายทำกำไรในหุ้นกลุ่มเทคโนโลยี
- สัปดาห์ที่ 2-6 ธ.ค. 2567 KSecurities คาดแนวรับที่ 1,415 และ 1,400 จุด ขณะที่ แนวต้านอยู่ที่ 1,435 และ 1,445 จุด ตามลำดับ โดยปัจจัยที่ต้องติดตาม ได้แก่ ดัชนีราคาผู้บริโภคเดือนพ.ย. ของไทย ทิศทางเงินทุนต่างชาติ ข้อมูลตลาดแรงงานเดือนพ.ย.ของสหรัฐฯ ดัชนี PMI ภาคการผลิตและการบริการเดือนพ.ย. ของสหรัฐฯ จีน ญี่ปุ่นและยูโรโซน ตลอดจนตัวเลขจีดีพีไตรมาส 3/2567 และดัชนีราคาผู้ผลิตเดือนต.ค. ของยูโรโซน
Scan QR Code
หมายเหตุ
รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น