Display mode (Doesn't show in master page preview)

13 เมษายน 2565

Econ Digest

หนุนธุรกิจสู่เป้าหมาย Net Zero ปรับ...เทคโนโลยี เปลี่ยน...ใช้พลังงานทดแทน

คะแนนเฉลี่ย

             ภาวะโลกร้อนส่งผลกระทบไปทั่วโลก โดยรายงาน IPCC ล่าสุดพบว่า หากจะบรรลุเป้าหมาย Net Zero รักษาอุณหภูมิโลก 1.5◦C ภายในปี 2050 จะต้องร่วมกันลดการใช้พลังงานถ่านหิน >95% น้ำมัน >60% ก๊าซ >45% แต่ถ้าไม่มีการดำเนินการใดเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างเร่งด่วน จะทำให้อุณหภูมิโลกสูงขึ้นกว่า 3.2◦C ภายในปี 2100 และจะส่งผลให้โลกเผชิญกับภัยธรรมชาติที่รุนแรงจำนวนมาก
         ภาวะโลกร้อนและภาวะโลกรวนที่ส่งผลกระทบไปทั่วโลก เป็นสิ่งที่ทุกประเทศได้ตระหนักและให้ความสำคัญเร่งด่วน โดย คณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ Intergovernmental Panel on Climate Change (IPCC) ได้เปิดเผยรายงานล่าสุด Climate Change 2022: Mitigation of Climate Change ของคณะทำงานที่ 3  เมื่อ 4 เม.ย. 65 เพิ่มเติมจากรายงานของคณะทำงานที่ 2 ที่ได้เคยกล่าวถึงผลกระทบภัยธรรมชาติที่รุนแรงจากภาวะโลกร้อน โดยในรายงานล่าสุดนี้ พบว่า หากไม่มีการดำเนินการเร่งด่วนเพื่อลดก๊าซเรือนกระจกจำนวนมากตั้งแต่ตอนนี้ จะส่งผลให้อุณหภูมิโลกสูงขึ้นถึง 3.2◦C ภายในปี 2100 ซึ่งเป็นอุณหภูมิที่สูงขึ้นกว่าเท่าตัวจากการประกาศเจตนารมย์ร่วมกันของผู้นำทั่วโลกในงาน COP26 ที่จะรักษาระดับอุณหภูมิโลกไม่ให้สูงเกิน 1.5◦C เทียบกับช่วงปฏิวัติอุตสาหกรรมในปี 1850 ซึ่งในรายงานดังกล่าว ยังได้มีการวิเคราะห์ถึงการดำเนินการของรัฐบาลทั่วโลกในปัจจุบันที่ยังไม่เพียงพอ โดยในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา พบว่ามีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพิ่มขึ้นสูงถึง 12% โดย 65% ของก๊าซเรือนกระจกมาจากการใช้พลังงานฟอสซิลและภาคอุตสาหกรรม  
         แม้ว่าในปัจจุบันจะมีการใช้พลังงานสะอาด พลังงานทดแทน และเทคโนโลยีเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานที่มากขึ้น อีกทั้งต้นทุนการผลิตพลังงานสะอาดก็ลดลงอย่างมาก อาทิ ต้นทุนการผลิตพลังงานจากโซลาร์และพลังงานลมต่อหน่วย ได้ลดลงมาจากเมื่อสิบปีที่แล้วถึง 85% และ 55% ตามลำดับ แต่ปริมาณ
การผลิตพลังงานดังกล่าว ก็ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้พลังงานในปัจจุบันได้ โดยหากจะบรรลุเป้าหมาย Net Zero ตามเจตนารมย์เพื่อรักษาอุณหภูมิของโลกไม่ให้เกิน 1.5◦C ภายในปี 2050  
ทุกประเทศทั่วโลกจะต้องร่วมกันลดการใช้พลังงานจากถ่านหินอย่างน้อย 95% ลดการใช้น้ำมัน 60% และ ลดการใช้ก๊าซธรรมชาติ 45% ให้ได้ภายในปี 2050 โดยในเบื้องต้น ผู้เชี่ยวชาญจาก IPCC คาดการณ์ว่า ในช่วงการเปลี่ยนผ่านเพื่อควบคุมอุณหภูมิโลกให้อยู่ที่ไม่เกิน 2◦C ภายในปี 2100 นั้น อาจส่งผลต่อการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจ โดย GDP ของโลก อาจปรับลดลง 1.3 - 2.7% ภายในปี 2050 หรือลดลงเฉลี่ยปีละ 0.04 – 0.09%       
          อย่างไรก็ดี การลดก๊าซเรือนกระจกได้มากหรือน้อยนั้น ยังต้องขึ้นอยู่กับความร่วมมือของ
ทุกฝ่าย ซึ่งในรายงานพบว่า หากทุกฝ่ายร่วมกันลดความต้องการใช้พลังงานและปรับเปลี่ยนพฤติกรรม (Demand-side Strategies) จะช่วยลดการเกิดก๊าซเรือนกระจกได้ถึง 40 - 70% ภายในปี 2050  โดยเฉพาะการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของประชาชน อาทิ ลดการบริโภคเนื้อสัตว์ ลดการใช้พลาสติก
       ครั้งเดียวทิ้งในการใส่อาหาร จะช่วยลดก๊าซเรือนกระจกได้สูงถึง 8 กิกะตัน CO2 เทียบเท่า หรือการปรับพฤติกรรมการเดินทาง โดยใช้การเดิน รถจักรยาน ขนส่งสาธารณะ และการใช้รถยนต์ไฟฟ้า จะช่วยลดก๊าซเรือนกระจกได้สูงถึง 6.5 กิกะตัน CO2 เทียบเท่า
นอกจากนี้ ภาครัฐมีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของประชาชนในการช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งปัจจุบัน เริ่มมีการดำเนินนโยบายไปบางส่วนแล้ว เช่น นโยบายลดการใช้ถุงพลาสติกในร้านค้า ซึ่งเริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2563  นโยบาย 30@30 ในการสนับสนุนยานยนต์ไฟฟ้า โดยมีเป้าหมายการผลิตรถยนต์ ZEV (Zero Emission Vehicle) ให้ได้อย่างน้อย 30% ของรถยนต์ที่ผลิตในประเทศภายในปี 2030 โดยคาดว่าจะผลิตรถยนต์นั่งและรถกระบะไฟฟ้า 725,000 คัน รถจักรยานยนต์ไฟฟ้า 650,000 คัน และรถบัสและรถบรรทุกไฟฟ้า 33,000 คัน  โดยในเบื้องต้น รัฐบาลได้เห็นชอบการปรับลดอัตราอากรขาเข้าและภาษีสรรพสามิต รวมถึงให้เงินอุดหนุนสำหรับรถยนต์/รถกระบะไฟฟ้า 70,000 – 150,000 บาทต่อคัน และรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า 18,000 บาทต่อคัน เพื่อช่วยให้ราคาถูกลงและจูงใจผู้บริโภคมากขึ้น โดยล่าสุดพบว่า ราคาขายปลีกของรถยนต์ไฟฟ้าจากค่ายรถยนต์ที่ได้เข้าร่วมลงนามกับภาครัฐ ได้ปรับลดราคาลง 160,500 – 161,000 บาท และมียอดจองในงาน motor show ในช่วง 21 มี.ค. – 3 เม.ย. 65 แล้วกว่า 2,000 คัน รวมถึง การให้บริการรถโดยสารพลังงานสะอาดในกรุงเทพมหานคร ซึ่งคาดว่าจะเริ่มให้บริการได้ในเดือนสิงหาคมนี้  
สำหรับการสนับสนุนการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้แก่ภาคเอกชนนั้น รัฐบาลมีการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษี ผ่านการพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) อาทิ
-    การปรับเปลี่ยนเครื่องจักรใหม่ที่มีประสิทธิภาพในการลดการใช้พลังงาน หรือใช้พลังงานทดแทน หรือลดการปล่อยมลภาวะต่างๆ ได้ตามเกณฑ์ที่กำหนด จะได้รับการยกเว้นอากรขาเข้าเครื่องจักรและยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 3 ปี ในวงเงิน 50% ของเงินลงทุนเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพดังกล่าว  
-    การพัฒนาเทคโนโลยีสมัยใหม่ด้านการเกษตรเพื่อลดก๊าซเรือนกระจกและเทคโนโลยีเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตเพื่อการเกษตรที่ยั่งยืน จะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 3 ปี ไม่เกิน 120% ของวงเงินลงทุน
-    การส่งเสริมกิจการยานยนต์ไฟฟ้าครบวงจร ทั้ง รถยนต์ไฟฟ้า รถจักรยานยนต์ และการผลิตชิ้นส่วนและอุปกรณ์ยานยนต์ไฟฟ้า จะได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 3 – 11 ปี แล้วแต่ประเภทกิจการ
-    การใช้เทคโนโลยี Carbon Capture, Utilization and Storage (CCUS) ในการดักจับ CO2 กลับเข้าสู่ชั้นบรรยากาศ สำหรับกิจการโรงแยกก๊าซธรรมชาติ หรือกิจการผลิตผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมี จะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 8 ปี
นอกเหนือจากนโยบายเพื่อส่งเสริมการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมแล้ว ปัจจุบันรัฐบาลยังเร่งดำเนินนโยบายหลักเพื่อสนับสนุนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และเทคโนโลยี อาทิ การพัฒนาแพลตฟอร์มการซื้อขายคาร์บอนเครดิต และมาตรฐานอุตสาหกรรมต่าง ๆ เพื่อส่งเสริมการลดก๊าซเรือนกระจกในภาคอุตสาหกรรม
การสนับสนุนอุตสาหกรรม Bio-Circular-Green (BCG) เพื่อให้เกิดการพัฒนาธุรกิจสีเขียวที่ยั่งยืน ทั้งนี้
หากทุกภาคส่วน ทั้งประชาชน เอกชน และรัฐบาลร่วมมือกันอย่างเต็มที่ คาดว่าไทยจะสามารถบรรลุตามเป้าหมาย Carbon Neutrality ในการลดการปล่อยก๊าซ CO2 สุทธิเป็นศูนย์ ได้ภายในปี 2050


Scan QR Code


QR Code

หมายเหตุ

รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น

Econ Digest