Display mode (Doesn't show in master page preview)

15 กรกฎาคม 2568

Econ Digest

เศรษฐกิจจีนครึ่งแรก ปี 2568 เติบโตที่ 5.3%YoY ช่วงที่เหลือของปีคาดเติบโตชะลอลงจากแรงกดดันสงครามการค้า

คะแนนเฉลี่ย

o    ท่ามกลางปัจจัยกดดันเรื่องสงครามการค้าที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง เศรษฐกิจจีนไตรมาส 2/2568 เติบโตชะลอลงเล็กน้อยจากไตรมาสแรก แต่ยังเติบโตในอัตราที่สูงกว่าเป้าหมายของรัฐบาลโดยขยายตัวอยู่ที่ 5.2%YoY (รูปที่ 1) ปัจจัยหนุนหลักมาจากการเร่งส่งออกก่อนข้อยกเว้นภาษี 90 วันกับประเทศอื่น ๆ ยกเว้นจีนจะสิ้นสุดลง นอกจากนี้ โครงการของเก่าแลกของใหม่ (Trade-in Program) ยังเข้ามาช่วยหนุนการใช้จ่ายผู้บริโภค ขณะที่ภาคอสังหาริมทรัพย์ยังเป็นปัจจัยกดดันเศรษฐกิจจีนต่อเนื่อง  ทั้งนี้ เศรษฐกิจจีนครึ่งแรกของปี 2568 เติบโตดีกว่าคาดที่ 5.3%YoY (รูปที่ 2) 

o    ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่าเศรษฐกิจจีนปี 2568 มีแนวโน้มเติบโตดีกว่าคาดการณ์เดิมอยู่ที่ 4.8% จาก 4.2% หลังเศรษฐกิจจีนครึ่งปีแรกเติบโตดีกว่าคาดการณ์ อย่างไรก็ตาม ในช่วงครึ่งหลังของปี 2568 เศรษฐกิจจีนมีแนวโน้มเติบโตชะลอลง มีรายละเอียด ดังนี้ 

1.    ครึ่งหลังของปี 2568 เศรษฐกิจจีนคาดจะยังได้รับปัจจัยหนุนจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐอย่างโครงการสินค้าเก่าแลกสินค้าใหม่ที่ยังมีวงเงินเหลืออยู่ (รูปที่ 3) แต่ผลของมาตรการต่อการจับจ่ายใช้สอยของครัวเรือนคาดมีจำกัด หลังมีการเร่งซื้อสินค้าไปแล้วในช่วงครึ่งแรกของปี 

2.    ทิศทางการส่งออกจีนครึ่งหลังของปียังขึ้นอยู่กับอัตราภาษีที่สหรัฐฯ จะเรียกเก็บกับประเทศอื่น ๆ โดยเฉพาะในอาเซียน รวมถึงเงื่อนไขที่สหรัฐฯ จะกำหนดเพิ่มขึ้นจากการส่งสินค้าผ่านประเทศที่สามอย่างที่สหรัฐฯ เรียกเก็บจากเวียดนาม ทั้งนี้ คาดว่าการส่งออกมีแนวโน้มเติบโตชะลอลงหลังมีการเร่งส่งออกไปแล้วในช่วงครึ่งแรกของปี อีกทั้งสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนยังมีความไม่แน่นอนสูง โดยล่าสุดสหรัฐฯ และจีนบรรลุข้อตกลงทางการค้าปรับลด Reciprocal Tariffs กันชั่วคราว 90 วัน สิ้นสุดวันที่ 12 ส.ค. 68 อย่างไรก็ดี อัตราภาษีคาดว่าจะไม่กลับไปอยู่ในระดับสูงเท่าช่วงเดือนเม.ย.68 ที่มีการตอบโต้ระหว่างกัน แต่อัตราภาษีที่สหรัฐฯ เก็บจากสินค้านำเข้าจีนที่ 51.1% ถือว่าอยู่ในระดับสูงที่จะทำให้การค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนมีแนวโน้มปรับลดลง   

3.    ความเสี่ยงเงินฝืดที่จีนยังเผชิญอยู่ แม้ทางการจีนจะเน้นการส่งเสริมการใช้จ่ายภายในประเทศเพิ่มขึ้น แต่การเติบโตของผลผลิตในภาคการผลิตยังคงอยู่ในระดับสูงกว่าการเติบโตของการบริโภคในประเทศ (รูปที่ 4) สะท้อนว่าผลผลิตภาคการผลิตของจีนยังอยู่ในระดับสูง ซึ่งในระยะข้างหน้าจะยังสร้างแรงกดดันต่อปัจจัยทางด้านราคา โดยเฉพาะเมื่อการส่งออกเผชิญความเสี่ยงจากอัตราภาษีที่ปรับสูงขึ้น 

4.    แนวทางการควบคุมเรื่องสงครามราคาในประเทศที่คาดว่าทางการจีนจะเริ่มเข้ามาออกมาตรการแก้ไขปัญหาเพิ่มขึ้น แม้จะเป็นผลดีต่อเศรษฐกิจจีนในระยะยาว แต่ในเบื้องต้นอาจทำให้ภาคธุรกิจเผชิญแรงกดดันเพิ่มเติม เช่น การปรับลดเงินอุดหนุนในบางธุรกิจ เป็นต้น ซึ่งยังต้องติดตามแนวทางในการแก้ไขปัญหาต่อไป 

o    ทั้งนี้ เศรษฐกิจจีนที่มีทิศทางเติบโตชะลอลงจะส่งผลกระทบมาถึงไทยผ่านภาคการท่องเที่ยวที่ปัจจุบันนักท่องเที่ยวจีนเริ่มเข้ามาในไทยน้อยลง โดยครึ่งแรกของปีนักท่องเที่ยวจีนเดินทางมาไทยลดลง (-34%YoY) รวมถึงปัญหาสินค้าราคาถูกในจีนจะยิ่งกดดันปัญหาสินค้าราคาถูกเข้าไทยในระยะต่อไป 

Scan QR Code


QR Code

หมายเหตุ

รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น

Econ Digest