Display mode (Doesn't show in master page preview)

28 ตุลาคม 2562

Econ Digest

ชิม ช้อป ใช้ เฟส 2 ช่วย...ประคอง การบริโภคภายในประเทศ Cash Back 15-20% หวังเป๋าตังค์ 2 จับจ่ายปลายปีช่วงไฮซีซั่น

คะแนนเฉลี่ย

​​          มาแล้วกับมาตรการ “ชิมช้อปใช้" เฟส 2 ที่ให้สิทธิ์ประชาชนลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการเพิ่มอีก 3 ล้านคน หลังมาตรการ “ชิมช้อปใช้" เฟส 1 ได้รับการตอบรับจากประชาชนอย่างล้นหลาม โดยในเฟส 2 นี้มีสาระสำคัญเพิ่มเติมจากเฟสแรก 2 ส่วน คือ การเพิ่มขั้นบันไดของ Cash Back จาก 15% เป็น 20% หากใช้จ่ายในกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ช่องที่ 2 หรือที่เรียกว่า G-Wallet 2 มากกว่า 30,000 บาท (แต่ไม่เกิน 50,000 บาท) และการขยายระยะเวลาสิ้นสุดโครงการสำหรับการใช้จ่ายใน G-Wallet 2 จาก 30 พ.ย. เป็น 31 ธ.ค. 2562

         ​​ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า มาตรการ “ชิมช้อปใช้" ทั้ง 2 เฟสจะมีส่วนช่วยประคองการบริโภคภายในประเทศช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2562 ไม่ให้ชะลอลงจากช่วงไตรมาสก่อนหน้า ท่ามกลางสภาวะเศรษฐกิจที่แวดล้อมไปด้วยปัจจัยเสี่ยงจากต่างประเทศ สำหรับเงินสนับสนุน 1,000 บาทของภาครัฐในกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ช่องที่ 1 น่าจะมีผลต่อเศรษฐกิจไทยในระดับหนึ่ง จากการสร้างสภาพคล่องในการจับจ่ายใช้สอยของครัวเรือนฐานรากที่มีรายได้ต่ำกว่า 30,000 บาทต่อเดือน ซึ่งจากการสำรวจของศูนย์วิจัยกสิกรไทย คิดเป็น 60% ของครัวเรือนที่ลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการ “ชิมช้อปใช้" เฟส 1 ในขณะที่ผลต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจส่วนเพิ่มนั้น คงต้องคาดหวังไปที่การใช้จ่ายของผู้ลงทะเบียนในกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ช่องที่ 2 โดยกลุ่มเป้าหมายที่ภาครัฐคาดหวังให้มีการใช้จ่ายส่วนนี้ คือ กลุ่มผู้ลงทะเบียนที่มีฐานรายได้สูง ซึ่งจากการสำรวจ พบว่า ราว 40% ของครัวเรือนที่ลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการ “ชิมช้อปใช้" เฟส 1 มีรายได้สูงกว่า 30,000 บาท เนื่องจากครัวเรือนกลุ่มนี้มีกำลังซื้อสูงและน่าจะมีสภาพคล่องอยู่ในเกณฑ์ค่อนข้างดี เมื่อผนวกกับการขยายระยะเวลาสิ้นสุดโครงการสำหรับการใช้จ่ายในกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ช่องที่ 2 ออกไปอีก 1 เดือนซึ่งครอบคลุมช่วงไฮซีซั่นด้วยแล้วนั้น ก็น่าจะช่วยหนุนให้ครัวเรือนกลุ่มนี้มีการใช้จ่ายในกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ช่องที่ 2 เพิ่มขึ้นได้ไม่ยาก แต่ก็ต้องขึ้นอยู่กับว่าครัวเรือนกลุ่มนี้สามารถลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการได้หรือไม่

          อย่างไรก็ดี ภาครัฐจะกระตุ้นการใช้จ่ายในกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ช่องที่ 2 ของกลุ่มเป้าหมายได้มากน้อยเพียงใดนั้นยังขึ้นอยู่กับอีกหลายปัจจัย อาทิ จำนวนร้านค้าที่เข้าร่วมรายการ Cash Back ในกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ช่องที่ 2 มีมากเพียงพอที่จะรองรับการใช้จ่ายของครัวเรือน โปรโมชั่นและการโฆษณาของทางร้านค้า รวมไปถึงการประชาสัมพันธ์จากทางภาครัฐให้ครัวเรือนเข้าใจในการใช้จ่ายกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ช่องที่ 2 ขณะที่ผลต่อเศรษฐกิจจะขึ้นอยู่กับกลุ่มสินค้าที่ครัวเรือนใช้จ่ายไปจากกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ช่องที่ 2 ซึ่งหากสามารถสร้างแรงกระตุ้นให้เกิดการใช้จ่ายในรายการที่หลากหลายมากกว่าสินค้าที่จำเป็นหรือสินค้าขั้นพื้นฐาน ก็จะมีแรงส่งส่วนเพิ่มกับเศรษฐกิจเฉพาะหน้ามากขึ้นตามไปด้วย 



Scan QR Code


QR Code

หมายเหตุ

รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น

Econ Digest