Display mode (Doesn't show in master page preview)

8 สิงหาคม 2562

Econ Digest

Age Tech ความสะดวกสบายที่ผู้สูงวัย...ควรรู้จักไว้

คะแนนเฉลี่ย

​​​       หนึ่งกลุ่มเทคโนโลยีที่กำลังได้รับความสนใจอย่างมากคือ Age Tech จากการที่มีการลงทุนในสตาร์ทอัพด้านนี้ครั้งแรกในปี 2556 ณ ปัจจุบัน มีสตาร์ทอัพที่มีผลิตภัณฑ์เข้าสู่ตลาดหรือได้รับการลงทุนจากภายนอกอย่างน้อย 170 รายทั่วโลก[1]

Age Tech มีลักษณะเช่นไร?

         Age Tech เป็นได้ทั้งเครื่องมืออุปกรณ์หรือซอฟแวร์ที่เสริมคุณภาพชีวิตให้ผู้สูงอายุ ซึ่งแม้จะมีความสอดคล้องกับ Health Tech ในระดับหนึ่ง ทั้งสองถือว่าต่างกัน โดยที่ Age Tech ครอบคลุมมากกว่าแค่สุขภาพทางกาย แต่รวมถึงสุขภาพทางการเงิน สุขภาพจิต ความเป็นอยู่และความสะดวกสบายโดยทั่วไป และเจาะจงผู้ใช้สูงอายุ การมีผู้สูงอายุเป็นผู้บริโภคหลัก จะส่งผลกับการออกแบบ Age Tech ทำให้ทั้งชนิดบริการและแม้กระทั่งลักษณะหน้าตา Age Tech ต่างจาก Health Tech ทั่วไป เช่น แอปพลิเคชันสุขภาพผู้สูงอายุอาจต้องมีระบบแจ้งพยาบาลอัตโนมัติ และมีตัวหนังสือที่ใหญ่ อ่านได้ง่ายเป็นต้น

          หนึ่งกลุ่มสำคัญคือ Wellness หรือเทคโนโลยีที่ดูแลสุขภาพในชีวิตประจำวัน เช่น Nymbl แอปฯมือถือเพื่อช่วยผู้สูงอายุฝึกการทรงตัวเพื่อลดความเสี่ยงจากการล้ม ซึ่งผลสำรวจเริ่มแรกพบว่า สามารถลดโอกาสการล้มในผู้สูงอายุได้ 20%[2] นอกจากนี้ อีกกลุ่มสำคัญคือ เทคโนโลยีการเงินเพื่อผู้สูงอายุซึ่งรวมถึงแอปฯเช่น Cake ซึ่งให้บริการจัดการกองทุนมรดกบนระบบ Cloud Computing โดยผู้สูงอายุสามารถระบุรายละเอียดเองและแบ่งข้อมูลให้กับทายาทตามความประสงค์[3]

ทำไม Age Tech จึงได้รับความสนใจมาก?

          หนึ่งปัจจัยสำคัญคือแนวโน้มการเพิ่มขึ้นของสัดส่วนประชากรสูงอายุทั่วโลก โดยองค์การอนามัยโลกคาดการณ์ว่า[4] ระหว่างปี 2558 และปี 2593 สัดส่วนประชากรโลกที่อายุมากกว่า 60 ปี จะเพิ่มขึ้นจาก 12% เป็น 22% ในขณะที่จำนวนประชากรที่อายุอย่างน้อย 60 ปี จะสูงกว่าจำนวนเด็กที่อายุน้อยกว่า 5 ขวบตั้งแต่ปี 2563 นอกจากนี้ ความคุ้นเคยกับเทคโนโลยีในกลุ่มผู้สูงอายุก็ยังมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้น ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากการให้ความรู้จากภาครัฐและเอกชน แต่ ปัจจัยหลักคือ การเปลี่ยนโครงสร้างประชากรผู้สูงอายุทั่วโลก จากกลุ่มที่เกิดก่อนการแพร่หลายของเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ในชีวิตประจำวัน มาเป็นกลุ่มที่เติบโตมาพร้อมกับเทคโนโลยีดังกล่าว ซึ่งจะเกิดขึ้นภายในยี่สิบปีข้างหน้า ทั้งหมดนี้ ทำให้ตลาด Age Tech มีแนวโน้มจะเติบโตรวดเร็วในระยะสั้นถึงกลาง ทำให้ได้รับการสนใจจากนักลงทุนมากเป็นพิเศษ

อย่างไรก็ตาม Age Tech ยังต้องได้รับการพัฒนาอีกมากก่อนที่จะสามารถถูกนำไปใช้ได้อย่างแพร่หลาย

          ในกรณีของ Age Tech ความปลอดภัยทางไซเบอร์และการปกป้องข้อมูลจะมีความสำคัญเป็นพิเศษ เนื่องจากผู้บริโภคในที่นี้ถือได้ว่าอยู่ในกลุ่มที่เสี่ยงต่อการถูกมิจฉาชีพเพ่งเล็งเป็นพิเศษ ยกตัวอย่าง ทางมหาวิทยาลัย UCLA พบว่า เมื่อเทียบกับผู้อายุน้อยกว่า ผู้สูงอายุมีแนวโน้มสูงกว่าที่จะไม่สังเกตพฤติกรรมน่าสงสัย[5] หากผู้บริโภคมีสติสัมปชัญญะที่ถดถอยตามอายุจริง หากไม่มีระบบป้องกันเสริมก็เสี่ยงที่ผู้สูงอายุจะสูญเสียทรัพย์ นั่นหมายความว่า ในอนาคต Age Tech โดยเฉพาะกลุ่มที่ช่วยบริหารการเงิน อาจจะต้องถูกผนวกเข้ากับเทคโนโลยี AI เพื่อตรวจสอบธุรกรรมว่าเข้าข่ายน่าสงสัยหรือไม่ และคงต้องใช้ Biometrics เพื่อทั้งเสริมความปลอดภัยและเอื้ออำนวยการเข้าระบบโดยที่ผู้ใช้ไม่ต้องกังวลว่าตนจะจำรหัสไม่ได้

      นอกจากนี้ สำหรับเทคโนโลยีกลุ่ม Wellness การที่ Age Tech จะสามารถแสดงประสิทธิภาพได้อย่างเต็มที่ จะต้องมีโครงสร้างเทคโนโลยีรองรับ ซึ่งอาจเป็นประเด็นอุปสรรคสำคัญในประเทศด้อยพัฒนา เนื่องจากเทคโนโลยีกลุ่มนี้จะมีอุปกรณ์เทคโนโลยีสวมใส่ เช่น Apple Watch และเซนเซอร์เป็นเครื่องมือเก็บข้อมูลและในการติดต่อขอความช่วยเหลือ ซึ่งหากจะนำไปใช้ในโรงพยาบาลหรือที่พักอาศัยสูงอายุที่จะมีผู้ใช้จำนวนมาก เครือข่ายอินเตอร์เน็ตก็จะต้องมีความเร็วและสามารถรองรับการเชื่อมต่อจากอุปกรณ์หลายชิ้นได้พร้อมกัน สำหรับหลายประเทศ รวมทั้งประเทศไทย การมาของระบบ 5G ในสองสามปีข้างหน้า ซึ่งจะสามารถรองรับการเชื่อมต่ออุปกรณ์ IoT ได้มากถึง 1 ล้านเครื่องต่อตารางกิโลเมตร มากกว่า 4G ถึง 10 เท่า จะเป็นเงื่อนไขสำคัญที่ช่วยปลดล็อคประสิทธิภาพเทคโนโลยี Wellness  

        ท้ายสุด ประเด็นค่าใช้จ่ายก็ถือว่าเป็นประเด็นสำคัญ โดยเฉพาะในกรณีประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้านที่ประชากรมีแนวโน้มจะมีสัดส่วนสูงอายุมาก โดยที่รายได้เฉลี่ยของประชากรยังคงอยู่ในเกณฑ์ต่ำ ซึ่งจะจำกัดการเข้าถึงบริการ Age Tech เหล่านี้ ซึ่งในจุดนี้ อาจจะต้องมีโครงการสนับสนุนและอบรมด้าน Age Tech จากทางการไทยเพื่อช่วยเหลือฝั่งผู้ใช้งานและสนับสนุนให้เทคโนโลยีเหล่านี้เกิดขึ้นได้ และเป็นที่เอื้อมถึงจากผู้สูงอายุไทยส่วนใหญ่ในอนาคต

ที่มา: CB Insights; Forbes; Nymbl; Tech in Asia; The Gerontechnologist; World Health Organization



[1] https://www.thegerontechnologist.com/​

[2] http://hughhuffaker.com/cybermed/ecosystem/innovators-and-experts-discuss-the-reimagining-of-aging-at-age-well-2016/; https://nymblscience.com/

[3] https://www.joincake.com/

[4] https://www.who.int/news-room/fact-sheets/detail/ageing-and-health

[5] https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC3529090/


Scan QR Code


QR Code

หมายเหตุ

รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น

Econ Digest