Display mode (Doesn't show in master page preview)

13 มิถุนายน 2567

Econ Digest

เฟดมีมติเป็นเอกฉันท์คงดอกเบี้ยนโยบายที่ 5.25-5.50% และส่งสัญญาณปรับลดดอกเบี้ย 1 ครั้งในปีนี้

คะแนนเฉลี่ย
  • ​จากการประชุม FOMC วันที่ 11-12 มิ.ย. ที่ผ่านมา เฟดมีมติเป็นเอกฉันท์คงดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 5.25-5.50% และจะยังคงดำเนิน QT tapering หรือลดขนาดการทำ QT ต่อเนื่อง จากตัวเลขเงินเฟ้อที่มีแนวโน้มลดลงช้า ขณะที่ตลาดแรงงานแม้จะชะลอลงสู่จุดสมดุลมากขึ้น แต่ยังคงสะท้อนภาพแข็งแกร่ง
  • เฟดส่งสัญญาณปรับลดดอกเบี้ย 1 ครั้งในปีนี้ โดยจาก Dot Plot ค่ากลางคาดการณ์ดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ 5.1% ณ สิ้นปีนี้ ทั้งนี้ เฟดระบุว่าแม้การลดลงของเงินเฟ้อจะมีความคืบหน้า แต่เฟดต้องการความมั่นใจมากขึ้นกว่านี้ว่าเงินเฟ้อมีแนวโน้มกลับสู่เป้าหมาย 2.0% ของเฟดก่อนจะตัดสินใจปรับลดดอกเบี้ยนโยบาย อย่างไรก็ดี เฟดพร้อมจะปรับเปลี่ยนทิศทางนโยบายการเงินหากตลาดแรงงานอ่อนแรงกว่าที่คาด หรือเงินเฟ้อปรับลดเร็วกว่าที่คาดไว้
  • ในด้านประมาณการเศรษฐกิจและเงินเฟ้อ เฟดมีมุมมองไม่เปลี่ยนแปลงจากประมาณการรอบที่แล้วเท่าใดนัก โดยยังคงประมาณการเศรษฐกิจปี 2567 ที่ 2.1% และประมาณการอัตราว่างงานปี 2567 ที่ 4.0% แม้จะมีการปรับประมาณการอัตราว่างงานปี 2568 ขึ้นมาเล็กน้อยจาก 4.1% มาอยู่ที่ 4.2% ขณะที่ มีการปรับประมาณการเงินเฟ้อทั่วไป (PCE inflation) และเงินเฟ้อพื้นฐาน (Core PCE inflation) ขึ้นมาเล็กน้อยจาก 2.4% และ 2.6% มาอยู่ที่ 2.6% และ 2.8% ตามลำดับในปี 2567   
  • แม้ค่ากลางคาดการณ์ดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ 5.1% หรือปรับลดดอกเบี้ยนโยบายเพียง 1 ครั้ง ณ สิ้นปีนี้ โดยคณะกรรมการ 4 รายมองไม่ปรับลดดอกเบี้ยเลย และ 7 รายมองปรับลดดอกเบี้ย 1 ครั้ง แต่คณะกรรมการ 8 รายมองปรับลดดอกเบี้ย 2 ครั้งในปีนี้ สะท้อนว่ามีความเป็นไปได้ที่เฟดอาจปรับลดดอกเบี้ย 2 ครั้งในปีนี้ ประกอบกับโทนการสื่อสารของเฟดที่ลดความแข็งกร้าวลงเล็กน้อย ได้ส่งผลให้ตลาดส่วนใหญ่กลับมองเฟดปรับลดดอกเบี้ยนโยบาย 2 ครั้งในปีนี้ในการประชุมเดือนก.ย. และ ธ.ค. 2567
  • ทั้งนี้ ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้น ค่าเงินดอลลาร์ฯ อ่อนค่าลง และอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ปรับลดลงหลังจากตัวเลขเงินเฟ้อสหรัฐฯ เดือนพ.ค. ออกมาชะลอตัวลง แต่หลังจากผลการประชุมเฟดออกมาและเฟดส่งสัญญาณปรับลดดอกเบี้ยเพียง 1 ครั้งน้อยกว่าที่ตลาดคาด ส่งผลให้ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ตอบรับด้วยการปรับตัวลดลง อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ปรับเพิ่มขึ้น และค่าเงินดอลลาร์ฯ แข็งค่าขึ้นเล็กน้อย ขณะที่ ค่าเงินบาทเปิดตลาดวันที่ 13 มิ.ย. 2567 แข็งค่าขึ้นเล็กน้อยมาอยู่ที่ 36.62 บาทต่อดอลลาร์ฯ จากระดับปิดตลาดวันก่อนหน้าที่ 36.69 บาทต่อดอลลาร์ฯ

Scan QR Code


QR Code

หมายเหตุ

รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น

Econ Digest