Display mode (Doesn't show in master page preview)

23 ธันวาคม 2564

Econ Digest

Food Delivery ปี 65 คาดโตต่อที่ 4.5% ผู้ให้บริการ รุกขยายพื้นที่สร้างฐานลูกค้าใหม่

คะแนนเฉลี่ย

การระบาดของโควิด-19 มาตรการจำกัดการให้บริการร้านอาหาร และการ Work from Home ทำไห้ปี 2564 มูลค่าตลาดของการสั่งอาหารไปส่งยังที่พัก Food Delivery (บนฐานคำนวณใหม่ รวมสินค้าเบเกอรี่และเครื่องดื่ม) เติบโตกว่า 46.4%  (YoY) สำหรับแนวโน้มปี 2565 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประมวลข้อมูลจากความร่วมมือของ LINE MAN Wongnai และข้อมูลในตลาด โดยมีมุมมอง ดังนี้

ทิศทางตลาด Food Delivery ปี 2565 คาดว่าจะปรับขึ้น โดยการขยายพื้นที่การทำตลาดของแพลตฟอร์มจัดส่งอาหารและการทำโปรโมชั่นอย่างต่อเนื่อง ทำให้ดัชนีจำนวนครั้งในการสั่งอาหารของผู้บริโภคปี 2565 อยู่ที่ 477 (ฐาน 100 ที่ปี 2561) เพิ่มขึ้น 2.9% (YoY) ซึ่งเป็นอัตราที่ชะลอลงเมื่อเทียบกับปี 2564 ขณะเดียวกัน ราคาหรือยอดสั่งอาหารต่อครั้งในปี 2565 คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเช่นกันแต่ในอัตราที่จำกัด ท่ามกลางการแข่งขันที่รุนแรง และกำลังซื้อที่เปราะบาง โดยยอดสั่งซื้อต่อครั้งน่าจะเฉลี่ยอยู่ที่ราว 193 บาท เพิ่มขึ้นจากค่าเฉลี่ยที่ราว 190 บาท ในปี 2564 นอกจากนี้ มูลค่าตลาด Food Delivery จะยังเติบโตต่อเนื่องในระดับที่ชะลอลง โดยจากการเพิ่มขึ้นของปริมาณการสั่งและราคาดังกล่าว ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า มูลค่าตลาด Food Delivery ปี 2565  (ฐานคำนวณใหม่) จะมีมูลค่ารราว 7.9 หมื่นล้านบาท ขยายตัว 4.5% ชะลอลงจากฐานที่เร่งตัวสูงในปี 2564 อย่างไรก็ดี หาก Omicron มีการระบาดรุนแรง ตลาดการจัดส่งอาหารไปยังที่พักน่าจะขยายตัวได้เพิ่มขึ้นกว่าคาด นอกจากนี้ยังคาดว่ากลุ่มร้านอาหารที่มีโอกาสเติบโตได้มากกว่าภาพรวม คือ ร้านอาหาร Limited Service (อาทิ เบอร์เกอร์ พิซซ่า ไก่ทอด) และ Street food ซึ่งเป็นกลุ่มที่ผู้ให้บริการแอพพลิเคชั่นจัดส่งอาหารไปยังที่พักให้ความสำคัญในการทำการตลาดและขยายพอร์ทร้านอาหารบนแพลตฟอร์มของตน

โดยสรุป ท่ามกลางสถานการณ์ที่กำลังซื้อผู้บริโภคยังเปราะบางและพฤติกรรมเปลี่ยนแปลงรวดเร็ว กอปรกับการแข่งขันที่รุนแรง ผู้ประกอบการร้านอาหารยังจำเป็นต้องพึ่งพาช่องทาง Food Delivery โดยเน้นเมนูที่ชูความคุ้มค่าด้านราคาและคุณภาพ มีเอกลักษณ์ เจาะกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย ขณะเดียวกันก็ต้องบริหารจัดการต้นทุนวัตถุดิบ แรงงาน ครัวกลาง ช่องทางการขาย อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อรักษาความต่อเนื่องของกระแสเงินสดและมีส่วนต่างกำไรหล่อเลี้ยงกิจการอย่างสม่ำเสมอ​

Scan QR Code


QR Code

หมายเหตุ

รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น

Econ Digest