• ปี 2563 Gen Z ได้เริ่มเข้ามาสู่ตลาดแรงงานในฐานะ First Jobber• Gen Z มีความคุ้นเคยกับเทคโนโลยีเป็นอย่างดี มองเห็นคุณค่าของตัวเองและเชื่อในสิ่งที่มีข้อมูลรองรับแล้ว• ระบบการศึกษาปัจจุบันตอบโจทย์ Gen Z ลดลง สื่อออนไลน์ คอร์สระยะสั้นเริ่มเข้ามาเป็นที่นิยม• ผลตอบแทนในรูปตัวเงินที่สูงเพียงอย่างเดียวไม่สามารถดึงดูดใจ Gen Z สังคมในการทำงาน ความยืดหยุ่นเป็นสิ่งสำคัญที่จะ รักษา Gen Z ให้พัฒนาและเติบโตไปกับองค์กรได้อย่างยั่งยืน • ภาคการศึกษาควรปรับปรุงหลักสูตรให้ตอบรับความต้องการ องค์กรต่าง ๆ ควรปรับเปลี่ยนวิถีต่าง ๆ ทั้งในเรื่องของสังคมและ ความยืดหยุ่นในการทำงาน • ภาคส่วนอื่น ๆ เช่น ด้านการตลาดก็มีความจำเป็นที่จะเตรียมพร้อมรับมือกับพฤติกรรมที่แตกต่างไปของ Gen Z
ปี 2563 Gen Z ได้เริ่มเข้ามาสู่ตลาดแรงงานในฐานะ First Jobber
ในปี 2563 ถือเป็นปีแรกที่ประชากร Generation Z ได้เริ่มเข้าสู่ตลาดแรงงานในฐานะ First Jobber ซึ่งในระยะข้างหน้าจะเข้ามาเป็นกำลังหลักของแรงงานในประเทศ ลักษณะนิสัย ทัศนคติในการทำงานรวมถึงไลฟ์สไตล์ต่าง ๆ ของประชากรกลุ่มนี้มีความแตกต่างไปจากประชากร Generation ก่อน ๆ ค่อนข้างมาก ดังนั้นผู้ประกอบการหรือนายจ้างจึงควรศึกษาและเข้าใจถึงพฤติกรรมต่าง ๆ ของบุคลากรโดยเฉพาะในช่วงของการเปลี่ยนผ่าน Generation เพื่อให้องค์กรเติบโตไปอย่างยั่งยืน
Gen Z มีความคุ้นเคยกับเทคโนโลยีเป็นอย่างดี มองเห็นคุณค่าของตัวเองและเชื่อในสิ่งที่มีข้อมูลรองรับแล้ว
ประชากร Generation Z โดยนิยามคือบุคคลที่เกิดในช่วงพ.ศ. 2538-2552 ซึ่งในปีปัจจุบันจะมีอายุ 12 – 26 ปี คิดเป็นประมาณหนึ่งในสี่ของจำนวนประชากรไทย1 (19% ของจำนวนประชากรไทยทั้งหมด) บุคคลกลุ่มนี้เติบโตมาที่เกิดมาพร้อมกับในยุคสิ่งอำนวยความสะดวก มีความคุ้นเคยกับเทคโนโลยีเป็นอย่างดี สามารถเรียนรู้ได้เร็ว มองเห็นคุณค่าของตัวเองและมองทุกคนเท่าเทียมกัน (ไม่แบ่งแยก) รวมถึงไม่เชื่อในระบบอาวุโส เชื่อในสิ่งที่มีข้อมูลรองรับ ส่วนใหญ่มีพื้นฐานทางครอบครัวที่ดีกว่าคนใน Generation ก่อน ๆ ซึ่งความเชื่อ พฤติกรรมการใช้ชีวิตต่าง ๆ ส่งผลถึงมุมมองการทำงานของคนใน Gen Z ที่แตกต่างออกไป
ระบบการศึกษา 4 ปีในระดับอุดมศึกษาเริ่มตอบโจทย์ในเรื่องการทำงานของคน Gen Z ลดลง ขณะที่สื่อออนไลน์ และคอร์สความถนัดเฉพาะต่าง ๆ ระยะสั้นเริ่มเข้ามาเป็นที่นิยมเพิ่มขึ้น
ความแตกต่างของ Generation Z กับ Generation อื่น ๆ เริ่มตั้งแต่ในภาคการศึกษา เมื่อพิจารณาจำนวนนักศึกษาใหม่ในช่วงหลังที่ Generation Z เริ่มเข้าสู่วัยอุดมศึกษาจะเห็นว่าจำนวนนักศึกษาที่ศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษามีลดลงแม้ว่าส่วนหนึ่งจะเกิดจากปัจจัยในเรื่องของประชากรที่ลดลงแต่เมื่อตัดปัจจัย
เรื่องการลดลงของประชากรออกโดยวัดเป็นอัตราส่วนจะเห็นว่าทิศทางการเข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาปรับลดลงจาก 10.45% ในปี 2558 มาอยู่ที่ 9.16% ในปี 2563 เนื่องจากค่านิยมการศึกษาของคนใน Generation นี้เริ่มเปลี่ยนแปลงไป โดยมองว่าการศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาไม่ได้ตอบโจทย์ในเรื่องของการทำงาน และมองว่าเวลาสี่ปีในมหาวิทยาลัยค่อนข้างยาวนาน ค่าใช้จ่ายกับผลประโยชน์ที่ได้รับไม่คุ้มค่า ซึ่งเทรนด์นี้เกิดขึ้นในสหรัฐฯ เช่นเดียวกัน โดยข้อมูลจาก National Student Clearinghouse Research Center ระบุว่าจำนวนนักศึกษาในสหรัฐฯ ที่ลงทะเบียนศึกษาต่อในระดับมหาวิทยาลัยจากปี 2554 ถึงปี 2563 ลดลงถึง 11% โดยการเปิดกว้างทางสื่อการศึกษา เช่น คอร์สออนไลน์จากต่างประเทศ และ Youtube ตอบโจทย์ความต้องการของคนรุ่นใหม่มากกว่า นอกจากนี้สถานการณ์โควิด-19 ที่เกิดขึ้นยิ่งเข้ามาตอกย้ำแนวโน้มการศึกษาออนไลน์ด้วยเช่นกัน
ผลตอบแทนในรูปตัวเงินที่สูงเพียงอย่างเดียวไม่สามารถดึงดูดใจ Gen Z ได้อีกต่อไป สังคมในการทำงาน ปัจจัยเรื่องความยืดหยุ่นเป็นสิ่งสำคัญที่จะรักษา Gen Z ให้พัฒนาและเติบโตไปกับองค์กรได้อย่างยั่งยืน
ด้านการทำงานผลสำรวจหลายแห่งระบุว่าคนใน Generation Z จะไม่ได้ยึดติดกับองค์กรมากเท่ากับคนใน Generation อื่น ๆ นอกจากนี้ค่าตอบแทนที่สูงเพียงอย่างเดียวจะไม่สามารถดึงดูดใจให้คนใน Generation Z อดทนทำงานอีกต่อไป แต่จะต้องมีปัจจัยอื่น ๆ เช่น สถานที่ทำงาน เวลาเข้า-ออกงาน โดยต้องการความยืดหยุ่นในชีวิต และ Work Life Balance ที่เพิ่มขึ้น รวมถึงมีแนวคิดที่ต้องการเป็นผู้ประกอบการ ทำธุรกิจ start up มากขึ้น นอกจากนี้ด้วยความที่ Gen Z เติบโตมาพร้อมกับช่วงที่เทคโนโลยีเริ่มมีความรุ่งเรืองจึงส่งผลให้เกิดอาชีพใหม่ ๆ เพิ่มขึ้นมาก เช่น Youtuber /Vlogger หรือตำแหน่งที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีที่เพิ่งเกิดขึ้น (ผู้ประกอบการ E-sports, วิศวกรด้าน Cybersecurity) จะเห็นได้ว่าคนใน Gen Z มีโอกาสและทางเลือกในอาชีพเพิ่มขึ้นอย่างมาก ดังนั้น ความอดทนต่อการทำงานที่ไม่ชอบใจจึงมีแนวโน้มลดลง โดยมีการเปลี่ยนงานในระยะเวลาอันสั้น โดยข้อมูลจาก นักวิจัยและผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในทุกมิติระบุว่าปกติอัตราการลาออกจากงานของไทยจะอยู่ที่ประมาณ 10% แต่เมื่อ Gen Z เข้าสู่วัยทำงานอัตราการลาออกจากงานได้เพิ่มขึ้นอยู่ที่ 12-15% ทั้งนี้ คนใน Gen Z เป็นบุคคลที่มีความรู้ความสามารถเรียนรู้ได้เร็วและพร้อมที่จะเปลี่ยนแปลงไปพร้อมกับองค์กร จึงเป็นสิ่งสำคัญที่แต่ละองค์กรจะต้องเรียนรู้วิธีที่จะรักษาบุคลากรเหล่านี้และสร้างสังคมในที่ทำงานที่แม้จะมีความแตกต่างในด้าน generation แต่สามารถอยู่ร่วมกันเพื่อพัฒนางานให้กับองค์กรได้
Gen Z จะเริ่มเข้ามีบทบาทในสำคัญเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ภาคการศึกษาควรปรับปรุงหลักสูตรให้ตอบรับความต้องการ ขณะที่องค์กรต่าง ๆ ควรปรับเปลี่ยนวิถีการทำงานทั้งในเรื่องของสถานที่และสังคมที่มีความแตกต่างในเรื่องของ Generation
ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้าคนใน Generation Z จะเข้ามามีบทบาทสำคัญในสังคมส่งผลให้หลาย ๆ ภาคส่วนต้องมีการปรับตัวเพื่อรับมือ ทั้งในภาคการศึกษาที่ต้องออกแบบหลักสูตร ปรับปรุงโครงสร้างต่าง ๆ ให้ตอบโจทย์แก่ตลาดแรงงานมากขึ้น มีคอร์สระยะสั้นเฉพาะเรื่องเพิ่มขึ้น นอกจากนี้การฝึกให้นักศึกษาได้เห็นประสบการณ์จริงหรือการสร้างทักษะความเป็นผู้นำและทักษะที่สำคัญต่าง ๆ เพื่อให้เหมาะแก่การเข้าสู่ตลาดแรงงานก็เป็นเรื่องสำคัญ ขณะที่องค์กรควรเริ่มปรับเปลี่ยนวิถีการทำงานให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้น เช่น เวลาการทำงาน ปัจจุบันองค์กรบางแห่งได้ปรับเวลาทำงานเหลือ 4 วันต่อสัปดาห์ สถานที่การทำงานที่มีลักษณะเป็น co-working space ให้เหมาะกับไลฟ์สไตล์ในปัจจุบันมากขึ้น ซึ่งเราจะเห็นว่าองค์กรหลายแห่งเริ่มปรับตัวมากขึ้นหลังเกิดสถานการณ์โควิด-19 ในปีที่ผ่านมา นอกจากนี้บุคคลในองค์กรที่มีความแตกต่างกันทางด้านความคิดและลักษณะการทำงานก็เป็นสิ่งสำคัญที่องค์กรต้องมีการบริหารจัดการให้ดี เช่น ให้ต่างฝ่ายต่างเรียนรู้ข้อดีและสนับสนุนกันในเรื่องนั้น ๆ ไม่นำอายุหรือความอาวุโสมาเป็นใหญ่ในการตัดสินปัญหาต่าง ๆ เป็นต้น
ภาคส่วนอื่น ๆ เช่น ด้านการตลาดก็มีความจำเป็นที่จะเตรียมพร้อมรับมือกับพฤติกรรมที่แตกต่างไปของ Gen Z
นอกจากในเรื่องของการศึกษาและการทำงานในองค์กร ภาคส่วนอื่น ๆ เช่นการทำงานด้านการตลาดก็จำเป็นที่จะต้องปรับตัวตามพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปของคนใน Generation z เช่น การใช้สื่อออนไลน์ ต้องรู้ว่า platform ใดที่จะเข้าถึงคนกลุ่มนี้ได้มากกว่า เช่น ผลสำรวจระบุว่าคนใน generation Z เริ่มใช้ Facebook ลดลง เป็นต้น ทั้งนี้ ไม่ว่าจะอยู่ในยุคหรือ Generation ใด การพัฒนาและการเปลี่ยนแปลงก็ถือเป็นสิ่งที่องค์กรต่าง ๆ และพวกเราทุกคนควรเตรียมพร้อมเพื่อรับมืออยู่เสมอ
Scan QR Code
หมายเหตุ
รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น