Display mode (Doesn't show in master page preview)

9 กรกฎาคม 2564

Econ Digest

รีไฟแนนซ์รถ ผ่อนอยู่กู้ใหม่ได้ คุ้มหรือไม่? ต้องลองเปรียบเทียบ

คะแนนเฉลี่ย
ในยุคโควิดระบาด ผู้คนขาดเงินไร้งานแต่ยังต้องกินต้องใช้ ซ้ำมีหนี้ที่ต้องรับภาระ ในสถานการณ์เช่นนี้ลูกหนี้ที่มีหลักประกันมักให้ความสนใจข้อเสนอการรีไฟแนนซ์สินเชื่อเดิมด้วยหวังว่าจะได้รับประโยชน์ 3 ทาง คือ ช่วยลดค่างวด ลดดอกเบี้ย หรือมีเงินเหลือหลังปิดหนี้ก้อนเดิม โดยเฉพาะการรีไฟแนนซ์รถที่มีหลายธนาคารและบริษัทลีสซิ่งให้เลือกใช้ ซึ่งต่างชูจุดเด่น “รถผ่อนอยู่ก็กู้ได้” และใช้เวลาพิจารณาสินเชื่อไม่นาน 

ก่อนอื่นสำรวจตัวเองว่าสัญญาเช่าซื้อรถที่ยังผ่อนส่งอยู่ของเรานั้น สามารถและเหมาะสมที่จะรีไฟแนนซ์หรือไม่ จากเงื่อนไขหลัก 2 ประการ คือ 
ผ่อนมานานเท่าใดแล้ว >> สัญญาเช่าซื้อมักกำหนดไม่ให้ปิ​ดบัญชีสินเชื่อก่อน 12 งวด ขณะที่ธนาคารที่รับรีไฟแนนซ์ส่วนใหญ่กำหนดเงื่อนไขการพิจารณาว่าต้องผ่อนชำระมาแล้วไม่ต่ำกว่าครึ่งหนึ่ง 
วันที่ทำสัญญาเช่าซื้อรถ >> สัญญาเช่าซื้อที่ทำก่อนวันที่ 1 กรกฎาคม 2561 หากปิดบัญชีเงินกู้ก่อนกำหนด ลูกหนี้ต้องจ่ายดอกเบี้ยที่ยังไม่เกิดขึ้นจนครบทั้งจำนวนตามสัญญา ดังนั้น หากรีไฟแนนซ์จะต้องเสียดอกเบี้ยสองเด้ง ทั้งในส่วนดอกเบี้ยตามสัญญาเดิม และยังต้องชำระดอกเบี้ยตามสัญญาใหม่ที่รีไฟแนนซ์ด้วย อย่างไรก็ดี สำหรับการปิดบัญชีก่อนกำหนดของสัญญาเช่าซื้อรถที่ทำไว้ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2561 เป็นต้นไป ต้องจ่ายดอกเบี้ยที่ยังไม่เกิดขึ้นเช่นกันแต่ในอัตราไม่เกิน 50% ของดอกเบี้ยค่าเช่าซื้อที่ยังไม่เกิดขึ้นตลอดสัญญา 

ขั้นตอนต่อไปเป็นการเช็คลิสต์เพื่อประเมินประโยชน์เบื้องต้นจากการรีไฟแนนซ์ต่อสถานะหนี้และสถานะทางการเงินของเรา ตามปัจจัยชี้วัดหลัก ดังนี้ 
อัตราดอกเบี้ยที่รีไฟแนนซ์ควรต่ำกว่าดอกเบี้ยตามสัญญาเดิม >> ดอกเบี้ยรีไฟแนนซ์ปัจจุบันเริ่มต้นที่ประมาณ 3.5% ดังนั้น หากเดิมเราซื้อรถที่ได้รับดอกเบี้ยต่ำพิเศษในช่วง 0-1.99% จะทำให้การรีไฟแนนซ์ไม่ช่วยให้ประหยัดขึ้น 
วงเงินรีไฟแนนซ์ต้องเพียงพอปิดสินเชื่อเดิมและมีเงินเหลือ >> ส่วนใหญ่ข้อนี้มักไม่เป็นปัญหา โดยเฉพาะเมื่อผ่อนไปแล้วครึ่งทางหรือมากกว่าตามเกณฑ์ของธนาคารที่รับรีไฟแนนซ์ แต่จะได้วงเงินก้อนส่วนเกินจากมูลหนี้มากน้อยเพียงใด ขึ้นอยู่กับราคาประเมินรถเป็นหลัก ซึ่งถ้าเป็นรถแบรนด์หลักและเป็นรุ่นที่อยู่ในความนิยมของตลาด จะได้ราคาที่ดีขึ้น นอกจากนี้ อีกปัจจัยหนึ่งที่สำคัญไม่แพ้กันคือ ถ้าสัญญาเดิมวางเงินดาวน์สูง โอกาสที่จะได้สินเชื่อเพิ่มเติมจากการรีไฟแนนซ์ก็จะยิ่งมากขึ้นตามไปด้วย แต่ในทางกลับกัน ถ้าสัญญาเช่าซื้อเป็นแบบบอลลูน หรือจ่ายน้อยในระยะแรก ภาระหนี้คงค้างก้อนใหญ่ยังคงติดอยู่ในตอนท้ายสัญญาอันอาจลดทอนประโยชน์จากการรีไฟแนนซ์ลง   
ขยายระยะเวลาผ่อนชำระ >> โดยทั่วไปสามารถขยายระยะเวลาชำระหนี้ได้ถึง 84 งวด แต่หากเราใช้สิทธิ์ขอวงเงินรีไฟแนนซ์สูงแล้ว แม้จะขยายระยะเวลาผ่อนชำระ แต่อาจไม่มีผลต่อค่างวดที่ลดลง
ค่าใช้จ่ายจากการรีไฟแนนซ์ >> นอกเหนือจากรายจ่ายดอกเบี้ยที่ต้องเสียให้กับเจ้าหนี้เดิมแล้ว ยังมีรายจ่ายอื่นอีกหลายพันบาท อาทิ ค่าธรรมเนียมสินเชื่อประมาณ 2,000 บาท ค่าอากรแสตมป์ (จากการเปลี่ยนผู้ถือกรรมสิทธิ์รถ) ที่เรียกเก็บในอัตรา 500 บาทต่อราคาประเมินรถทุก 1 แสนบาท และค่าใช้จ่ายอื่นอีกหลักร้อย ซึ่งต้องนำไปคำนวณว่าส่วนต่างดอกเบี้ยที่ประหยัดได้จากการรีไฟแนนซ์ หรือประโยชน์อื่นใดที่เราได้ จะคุ้มกับรายจ่ายเหล่านี้หรือไม่

ถ้าการรีไฟแนนซ์ไม่ตอบโจทย์ เพราะยังมีปัญหารายได้ไม่พอค่าใช้จ่ายและผ่อนหนี้ อาจลองมองทางเลือกอื่น อาทิ  
>> ขอรับความช่วยเหลือจากเจ้าหนี้ด้วยการปรับเงื่อนไขการชำระหนี้ใหม่: โดยหากเจ้าหนี้เข้าร่วมมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยของธนาคารแห่งประเทศไทย ผู้กู้ยังคงเสียดอกเบี้ยตลอดอายุสัญญาเท่าเดิม นอกจากนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทยยังมีมาตรการไกล่เกลี่ยหนี้เช่าซื้อรถ ที่เปิดรับคำขอถึงวันที่ 31 กรกฎาคม 2564 
>> ขอสินเชื่อสำหรับคนมีรถ: หรือสินเชื่อจำนำทะเบียนแบบไม่โอนเล่ม ซึ่งปัจจุบันมีผู้ให้บริการหลายรายเปิดให้ยื่นคำขอสินเชื่อได้แม้ว่าผู้กู้ยังไม่มีกรรมสิทธิ์ในรถหรือรถยังติดภาระผ่อนอยู่กับสถาบันการเงินอื่น อัตราดอกเบี้ยแบบลดต้นลดดอกเริ่มต้นที่ประมาณ 10% ต่อปี โดยเกณฑ์การให้สินเชื่อจะพิจารณาจากลักษณะรถ (ยี่ห้อ รุ่น ปีจดทะเบียน) รายได้และประวัติทางการเงินของผู้กู้  

การรีไฟแนนซ์รถ อาจไม่ใช่หนทางที่เหมาะสมสำหรับผู้กู้ซื้อรถทุกคน เพราะเงื่อนไขสินเชื่อเช่าซื้อรถของแต่ละคนมีความแตกต่างกันมากจนไม่อาจใช้ความคุ้มค่าในการรีไฟแนนซ์ของคนอื่นมาเป็นบรรทัดฐานในการเลือกที่เหมาะสมกับตัวเราได้อย่างแท้จริง ดังนั้น หากผู้เช่าซื้อที่ต้องการรักษารถไว้แต่เริ่มประสบปัญหาติดขัดด้านรายได้ พึงพิจารณาทางเลือกอื่น ๆ เพิ่มเติมเพื่อให้ได้หนทางและวิธีสำหรับก้าวผ่านวิกฤตินี้ 


​​

Scan QR Code


QR Code

หมายเหตุ

รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น

Econ Digest