Display mode (Doesn't show in master page preview)

20 สิงหาคม 2564

Econ Digest

รู้ทันกล…แหล่งเงินกู้เถื่อน

คะแนนเฉลี่ย

ในทุกวิกฤตินอกจากสร้างฮีโร่ขวัญใจมหาชนแล้ว ยังต้องระวังมิจฉาชีพที่แอบแฝงมา โดยเฉพาะสถานการณ์โควิด-19 ที่รุนแรงและยืดเยื้อซึ่งเพิ่มความบอบช้ำให้กับกลุ่มคนที่ตกงาน ขาดรายได้ ตลอดจนผู้ที่มีภาระหนี้สินมากกว่าเงินออม อย่างไรก็ดี การแก้ปัญหาและหาทางออกด้านการเงินภายใต้ภาวะทุกข์เข็ญนี้ จำเป็นต้องมีสติ เพื่อให้รู้เท่ารู้ทันเล่ห์กลของมิจฉาชีพที่แฝงตัวมาให้สินเชื่อเงินด่วนโอนไวในช่องทางออนไลน์ และหลีกเลี่ยงการตกเป็นเหยื่อมนุษย์ด้วยกัน   

การดำเนินธุรกิจของแหล่งเงินกู้เถื่อนในช่องทางออนไลน์ ปัจจุบันพบเห็นได้ทั้งทางเฟซบุ๊ก แอปพลิเคชัน ไลน์ และการส่งข้อความไปยังโทรศัพท์มือถือ โดยให้ผู้สนใจที่ต้องการสินเชื่อเงินด่วนโอนไว ทักแชทส่วนตัวหรือคลิกลิงก์กลับมา พร้อมมอบเอกสารยืนยันตัวตน (เช่นเดียวกับแหล่งเงินกู้ถูกกฎหมาย) ได้แก่ บัตรประชาชน หมายเลขมือถือ และเลขที่บัญชีรับเงิน อย่างไรก็ดี มักมีเงื่อนไขให้ผู้กู้ต้องเปิดสิทธิ์ในการเข้าถึงรายชื่อผู้ติดต่อของตนเองทั้งหมายเลขโทรศัพท์ที่บันทึกไว้และรายชื่อเพื่อนในสื่อโซเชียลต่าง ๆ ทั้งนี้ ข้อสังเกตลักษณะแหล่งเงินกู้เถื่อนที่พบได้บ่อย ประกอบด้วย 
1. สร้างเพจหรือแอปเลียนแบบธนาคารและผู้ให้บริการถูกกฎหมาย: โดยใช้ชื่อให้คล้ายเหมือนกับบริษัทเงินกู้ใหญ่ ๆ เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ  
2. มีโฆษณาชวนเชื่อที่โดนใจกลุ่มเป้าหมาย: เช่น ดอกเบี้ยต่ำ (แต่ไม่จริง ภาระหนี้ที่ต้องจ่ายคืนทุกรูปแบบรวมกันเมื่อคิดเป็นดอกเบี้ยเฉลี่ยสูงไม่ต่ำกว่า 100% ต่อปี) ติดแบล็คลิสต์ก็กู้ได้ (อันนี้จริง เพราะมีคนติดตามหนี้เถื่อนที่มีพฤติกรรมอยู่เหนือกฎหมายช่วยให้ลูกหนี้ไม่กล้าเบี้ยวหนี้ แต่อาจจำยอมใช้แหล่งเงินกู้เถื่อนอีกทางเพื่อนำมาวนจ่าย) 
3. เพจหรือแอปที่เคยถูกจับยังวนกลับมาเปิดเพจใหม่ให้บริการในลักษณะเดิม: โดยเพจใหม่แสดงชื่อเดิมควบคู่ไปกับชื่อใหม่ที่ใกล้เคียงเก่า อาทิ แอป Consumer Finance ซึ่งศูนย์ป้องกันปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับหนี้นอกระบบ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ แถลงข่าวการจับกุมเมื่อต้นเดือนมิถุนายน 2564 ที่ผ่านมา มีความเกี่ยวพันรวมถึง 21 แอป 
4. ไม่สะดุ้งสะเทือนกับการประจานออนไลน์จากผู้หลงติดบ่วง โดยจะไม่มีการตอบกลับเพื่อสร้างความเข้าใจใด ๆ 
5. ช่องทางติดต่อไม่สามารถตรวจสอบย้อนกลับ: มีแต่คลิกลิงก์ทางเดียวและรอรับการติดต่อเท่านั้น       

ภัยจากการหลงเข้าไปในบ่วงสินเชื่อเงินด่วนโอนไวผิดกฎหมาย มีหลายระดับขั้นของความเสียหาย ซึ่งกว่าจะสามารถหาข้อสรุปและจบปัญหาได้ ผู้กู้ไม่ได้เสียแค่ดอกเบี้ยเหมือนการกู้ในระบบ ดังนี้ 
>>> เสียทรัพย์: ในกรณีที่ถูกหลอกลวงให้ยืนยันตัวตนด้วยการโอนเงินค่ามัดจำ 
>>> ถูกเอารัดเอาเปรียบหรือฉ้อโกง: ด้วยการคิดดอกเบี้ยสูงมากหลากวิธี เช่น ดอกเบี้ยสูงเป็นรายวันหรือรายเดือน ดอกลอย* ล้ม** เป็นต้น และกรณีที่ถูกหักเงินล่วงหน้าประมาณ 30-40% ของวงเงิน เช่น กู้ 5,000 บาท แต่ได้รับเงินโอนจริง 3,500 บาท 
* ดอกลอย >> เป็นการส่งแต่ดอกเบี้ยโดยเงินต้นไม่ลดลง ทำให้ภาระหนี้ไม่มีที่สิ้นสุด 
** ล้ม >> เป็นสัญญาที่ต้องส่งคืนดอกเบี้ยและเงินต้นตรงตามระยะเวลาที่กำหนด หากไม่จ่ายงวดใดงวดหนึ่งถือว่าเงินที่ส่งมาแล้วเป็นศูนย์ และต้องกลับมาเริ่มนับหนึ่งจ่ายใหม่ตั้งแต่ต้น
>>> ถูกทวงถามหนี้ด้วยวิธีบังคับข่มขู่หรือหมิ่นประมาทให้อับอาย: ก่อสงครามจิตวิทยาให้เกิดปัญหาสุขภาพจิตตามมา 
>>> ไม่ได้รับความช่วยเหลือในกรณีเป็นผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ: เนื่องจากผู้ให้กู้ยืมไม่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของธนาคารแห่งประเทศไทย และกระทรวงการคลัง 
>>> ไม่มีช่องทางการร้องเรียน มีแต่ต้องแจ้งความเพื่อดำเนินคดีตามกฎหมาย: โดยผู้กู้ต้องติดต่อหน่วยราชการที่ดูแลเรื่องหนี้นอกระบบ อันได้แก่ สำนักงานตำรวจ สำนักงานอัยการ ศูนย์รับแจ้งการเงินนอกระบบ ศูนย์ดำรงธรรม ศูนย์ช่วยเหลือลูกหนี้ที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม 
>>> ผู้ให้กู้ยืมนอกระบบเป็นผู้มีและใช้อิทธิพล: รวมทั้งมีกลุ่มทุนต่างชาติซึ่งไม่ยอมยุติหรือเลิกธุรกิจแม้ว่าจะถูกจับและดำเนินคดีแล้วก็ตาม โดยอาจมีตัวตายตัวแทน หรือไม่สามารถสืบสาวได้ถึงกลุ่มทุนหลัก เนื่องจากลักษณะธุรกิจที่ไม่มีสถานประกอบการแน่ชัดและดำเนินธุรกรรมผ่านช่องทางออนไลน์เป็นหลัก  

หากหลวมตัวกู้ไปแล้วและยังพอสู้ไหว คงต้องทำใจเผชิญหน้ากับปัญหาด้วยการหาทางจ่ายคืนหนี้ให้เร็วที่สุด เพื่อให้หลุดพ้นจากวงจรนี้ มีทรัพย์สินอะไรขายได้ให้ตัดใจขาย หรือนำไปจำนำจำนองกับผู้ให้บริการถูกกฎหมาย แต่อย่าแก้ปัญหาด้วยการกู้วนจากแหล่งเงินกู้นอกระบบ เพราะยิ่งเป็นดินพอกหางหมูที่หนักขึ้นจนดิ้นไม่หลุด ซึ่งหากแก้ไขโดยลำพังไม่ได้ ให้ขอรับความช่วยเหลือจากหน่วยงานภาครัฐที่รับปรึกษาปัญหาหนี้นอกระบบ
  >> 1359 ศูนย์รับแจ้งการเงินนอกระบบ สํานักงานเศรษฐกิจการคลัง (จุดรับเรื่องประสานงาน แนะนำช่องทางการไกล่เกลี่ยและช่องทางสินเชื่อในระบบอื่น ๆ เช่น Pico Finance สถาบันการเงินเฉพาะกิจ)
  >> 1567 ศูนย์ดำรงธรรม กระทรวงมหาดไทย (รับเรื่องร้องเรียนและร้องทุกข์ของประชาชนในพื้นที่ ป้องกันปราบปรามและไกล่เกลี่ยเกี่ยวกับหนี้นอกระบบในพื้นที่ที่รับผิดชอบ)
  >> 02-142-1444 สำนักงานอัยการสูงสุด (ไกล่เกลี่ยหนี้นอกระบบในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และให้คำปรึกษาด้านกฎหมาย)
  >> 02-142-2034 สำนัก​งานอัยการคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายและการบังคับคดีประจำจังหวัด (ไกล่เกลี่ยหนี้นอกระบบในพื้นที่นอกกรุงเทพมหานคร) 
  >> 1599 ศูนย์ป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับหนี้นอกระบบ (สปน.) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ประสานงานกับตำรวจในท้องที่เพื่อให้เป็นไปตามการบังคับใช้กฎหมาย)
  >> 02-575-3344 ศูนย์ช่วยเหลือลูกหนี้ที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม กระทรวงยุติธรรม

นอกจากนี้ บางกรณีเป็นการต้มตุ๋นที่พรางตัวเป็นแหล่งเงินกู้เถื่อน ซึ่งเหยื่อจะไม่ได้รับสินเชื่อ แต่จะถูกหลอกให้ส่งมอบเอกสารยืนยันตัวตน เช่น บัตรประจำตัวประชาชน สำเนาทะเบียนบ้าน เป็นต้น พร้อมทั้งถูกขอให้ “จ่ายเงินเป็นค่าธรรมเนียมดำเนินการ” ตามวงเงินที่ต้องการ หรืออาจแฝงมาในรูปการแจ้งข่าวได้รับรางวัลพิเศษซึ่งต้องโอนเงินค่าภาษีหรือค่าดำเนินการให้ก่อน เมื่อมิจฉาชีพรับเงินแล้วจะบล็อกบัญชีทันที 

ไม่ว่าจะอยู่ในสถานการณ์ที่ย่ำแย่เพียงใด ขอให้ใช้สติปัญญาของตนเองให้เต็มที่ ตรวจสอบเช็คกลับทุกวิถีทาง โดยหากไม่มั่นใจว่าเพจหรือแอปที่ให้ยืมเงินเป็นแหล่งเงินกู้เถื่อนหรือไม่ ให้นำชื่อบริษัทผู้ให้บริการ ไปค้นหาในเว็บไซต์ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือสอบถามผ่านเพจศูนย์ข้อมูลผู้ใช้บริการทางการเงิน (ศคง.) โปรดอย่าใจร้อนและด่วนตัดสินใจเลือกวิธีแก้ปัญหาอย่างง่าย เพราะอาจมีผลให้ชีวิตไปต่อลำบาก 


Scan QR Code


QR Code

หมายเหตุ

รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น

Econ Digest