Display mode (Doesn't show in master page preview)

22 มิถุนายน 2564

Econ Digest

คาด...กนง. คงดอกเบี้ยฯ 0.5%

คะแนนเฉลี่ย

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่า ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) วันที่ 23 มิ.ย. นี้ กนง. จะพิจารณาคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.50% เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ท่ามกลางแรงกดดันจากเงินเฟ้อที่ยังคงมีจำกัด เศรษฐกิจไทยยังคงเผชิญความเสี่ยงจากการระบาดของโควิด-19 ทั้งจำนวนผู้ติดเชื้อที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่องและอัตราการฉีดวัคซีนที่ยังคงไม่แน่นอน แม้ว่าการปูพรมฉีดวัคซีนจะมีอัตราเร่งขึ้น 2-3 เท่าตัวจากเดือนก่อนๆ  ทั้งนี้ มาตรการภาครัฐจะเป็นปัจจัยสำคัญในการกระตุ้นเศรษฐกิจในปีนี้ ขณะที่มาตรการทางการเงินแบบผ่อนคลายยังคงจำเป็นต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจท่ามกลางความเสี่ยงที่ยังอยู่ในระดับสูง ในด้านแรงกดดันจากเงินเฟ้อ ยังคงมีจำกัด แม้อัตราเงินเฟ้อของไทยในเดือน เม.ย.และพ.ค. เร่งตัวขึ้น 3.4% และ 2.4% YoY ตามลำดับ  โดยถูกขับเคลื่อนจากราคาพลังงาน และราคาอาหารสดบางชนิด ประกอบกับฐานที่ต่ำเป็นหลัก อย่างไรก็ตาม เมื่อมองไปข้างหน้า อัตราเงินเฟ้อไทยยังมีแนวโน้มเป็นบวก แต่คาดว่าจะทยอยปรับลดลงในช่วงครึ่งหลังปี สอดคล้องกับทิศทางอัตราเงินเฟ้อโลก ทั้งนี้ คาดว่ากนง. น่าจะยังคงประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2564 ไว้ที่ราว 1.5-2.0% สอดคล้องกับคาดการณ์ในรายงาน กนง. เดือน พ.ค. ที่ผ่านมา ซึ่งมองว่าหากในปีนี้สามารถฉีดวัคซีนได้ 64.6 ล้านโดสตามแผนเดิม เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวที่ 1.5% แต่หากสามารถเร่งฉีดวัคซีนได้ 100 ล้านโดส เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวที่ 2.0%

ทั้งนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทย  น่าจะยังเน้นการใช้มาตรการที่ตรงกลุ่มเป้าหมายและสอดคล้องกับลักษณะปัญหาเพื่อลดภาระหนี้สินของภาคครัวเรือนที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ซึ่งยังอยู่ในวิสัยที่สามารถทำได้ ขณะที่การปรับลดดอกเบี้ยนโยบายอาจยังไม่จำเป็น   โดยอาจเป็นทางเลือกหนึ่งในการลดภาระทางการเงินของครัวเรือน แต่อย่างไรก็ดี คาดว่า ธปท. น่าจะเลือกที่จะใช้มาตรการเฉพาะจุด มากกว่าการใช้มาตรการทั่วไปอย่างการปรับลดดอกเบี้ยนโยบายซึ่งอาจยังไม่มีความจำเป็นในสถานการณ์ปัจจุบัน และธปท. น่าจะต้องการเก็บกระสุนไว้ใช้ในยามที่เศรษฐกิจแย่ลง ท่ามกลางความสามารถในการดำเนินนโยบายการเงินที่มีจำกัด นอกจากนี้ หากลดดอกเบี้ยในขณะที่เงินเฟ้ออยู่ในช่วงขาขึ้น และเฟดส่งสัญญาณถอนนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายเร็วกว่าที่คาด จะทำให้เมื่อเผชิญสถานการณ์ที่มีแรงกดดันให้ต้องเพิ่มดอกเบี้ยจะมีต้นทุนที่สูง โดยนโยบายการเงินของเฟดที่เปลี่ยนไปในทิศทางเข้มงวดมากขึ้นจะส่งผลให้มีเงินทุนไหลออกจากตลาดเกิดใหม่ ซึ่งจะสร้างแรงกดดันต่อธปท. ในการคงนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายในระยะข้างหน้า​

Scan QR Code


QR Code

หมายเหตุ

รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น

Econ Digest