Display mode (Doesn't show in master page preview)

19 ธันวาคม 2563

Econ Digest

Monitoring List เมื่อบาทไทย... ถูกสหรัฐฯเฝ้าจับตา

คะแนนเฉลี่ย

​         ในแต่ละปี กระทรวงการคลังของสหรัฐฯ จะออกรายงานการประเมินนโยบายเศรษฐกิจและอัตราแลกเปลี่ยนของประเทศคู่ค้าสำคัญของสหรัฐฯ 2 ครั้งเพื่อทบทวนและติดตามทิศทางการดำเนินนโยบายฯ ของประเทศคู่ค้า โดยเงื่อนไข/เกณฑ์ที่สหรัฐฯ กำหนดขึ้นเพื่อพิจารณาว่าประเทศนั้นๆ ทำการบิดเบือนค่าเงินเพื่อหวังผลทางการค้ากับสหรัฐฯ มีอยู่ 3 ข้อ ประกอบด้วย 1. มียอดเกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ สูงกว่า 2 หมื่นล้านดอลลาร์ฯ ในรอบ 12 เดือนที่ผ่านมา 2. มียอดเกินดุลบัญชีเดินสะพัดของประเทศมากกว่า 2.0% ต่อจีดีพี  และ 3. มียอดซื้อเงินตราต่างประเทศสุทธิต่อเนื่อง 6 เดือนและเพิ่มขึ้นเกินกว่า 2.0% ของจีดีพี ซึ่งหากประเทศใดไม่ผ่านทั้ง 3 เงื่อนไขก็จะเข้าข่าย “บิดเบือนค่าเงิน” (Currency Manipulator) แต่หากไม่ผ่าน 2 จาก 3 เงื่อนไขก็จะถูกจัดอยู่ในบัญชีรายชื่อที่ “ถูกจับตาใกล้ชิด” (Monitoring List)
         และในช่วงที่ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ กำลังจะหมดวาระลง กระทรวงการคลังสหรัฐฯ ก็มีการเปิดเผยรายงานฉบับล่าสุดออกมาเมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2563   โดยรายงานรอบนี้ ระบุว่า สวิตเซอร์แลนด์และเวียดนาม เป็นประเทศที่มีการบิดเบือนค่าเงินเพื่อสร้างความได้เปรียบทางการค้ากับสหรัฐฯ ขณะที่ไทย ไต้หวัน และอินเดียเป็นประเทศที่ถูกเพิ่มเข้าไปอยู่ในบัญชีรายชื่อที่ถูกจับตาใกล้ชิด ร่วมกับอีก 7 ประเทศ ประกอบด้วย จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ เยอรมนี อิตาลี สิงคโปร์ และมาเลเซีย โดยจีนเพิ่งหลุดจากการถูกระบุว่าบิดเบือนค่าเงินในรายงานเมื่อเดือนมกราคม 2563 ที่ผ่านมา แต่ก็ยังคงถูกจัดอยู่ในกลุ่มที่ถูกจับตาต่อไป
         ผลการตรวจสอบและการระบุรายชื่อประเทศที่บิดเบือนค่าเงินเพื่อหวังผลทางการค้านี้ อาจถูกหยิบยกมาเป็นประเด็นที่ทางการสหรัฐฯ จะนำมาใช้ในการเจรจาต่อรอง หรือดำเนินมาตรการทางการค้าเพื่อตอบโต้กับประเทศนั้น ๆ เช่น กรณีของจีนในช่วงหลายปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ดี ทางการของแต่ละประเทศสามารถชี้แจงสื่อสารเพื่อทำความเข้าใจกับทางการสหรัฐฯ เพื่อลดโอกาสที่จะต้องเผชิญกับการยกระดับมาตรการกีดกันทางการค้าจากสหรัฐฯ
          สำหรับประเทศไทย ธนาคารแห่งประเทศไทยได้ออกมาชี้แจงว่า สถานะ Monitoring List ของไทย ไม่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจระหว่างผู้ประกอบการไทยกับสหรัฐฯ แต่คงต้องยอมรับว่า สถานะดังกล่าวอาจเพิ่มแรงกดดันด้านแข็งค่าให้กับค่าเงินบาท ในขณะที่เงินดอลลาร์ฯ ยังมีแนวโน้มอ่อนค่าตามสัญญาณผ่อนคลายทางการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ ซึ่งความเสี่ยงจากเงินบาทที่แข็งค่านี้จะเป็นหนึ่งในปัจจัยที่อาจสร้างความเปราะบางให้กับเส้นทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 2564 ที่กำลังจะมาถึง

Scan QR Code


QR Code

หมายเหตุ

รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น

Econ Digest