Display mode (Doesn't show in master page preview)

22 พฤษภาคม 2566

Econ Digest

จากไฟป่า ... สู่ PM2.5 โจทย์ที่รัฐบาลใหม่ยากจะละเลย

คะแนนเฉลี่ย

จาก PM 2.5 ซึ่งถูกซ้ำเติมจากไฟป่า ... สู่ปัญหาโลกร้อน โจทย์ที่รัฐบาลใหม่ยากจะละเลย
        สถานการณ์ปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 สูงเกินมาตรฐานในระดับอันตราย ได้สร้างความเดือดร้อนต่อการใช้ชีวิต การดำเนินธุรกิจ และสุขภาพของประชาชนในหลายพื้นที่ ซึ่งมักเกิดในช่วงเดือนธันวาคมถึงเมษายน โดย ข้อมูลจุดความร้อน ณ วันที่ 30 มีนาคม 2566 มีจำนวน 2,963 จุด เพิ่มขึ้นจาก ณ สิ้นเดือนมกราคม 2566 จำนวน 1,683 จุด ส่วนใหญ่เป็นจุดความร้อนในพื้นที่ป่าไม้ ในขณะที่ในช่วง 1 ตุลาคม 2565 – 12 มีนาคม 2566  มีพื้นที่ป่าถูกไฟไหม้สะสมจำนวน 55,731.64 ไร่ มากกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีพื้นที่ถูกไฟไหม้จำนวน 38,246 ไร่1 สะท้อนปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมที่ต้องเร่งแก้ไขอย่างจริงจัง


ผลกระทบต่อระบบนิเวศ PM2.5 และซ้ำภาวะโลกร้อน
        ผลกระทบจากการเผาไหม้ นอกจากจะส่งผลเสียหายโดยตรงและถาวรต่อระบบนิเวศของคน สัตว์ และสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ดังกล่าวและบริเวณจังหวัดใกล้เคียงซึ่งประเมินค่าไม่ได้แล้ว ก็ยังส่งผลให้คุณภาพอากาศในประเทศไทย มีค่า PM2.5 เกินมาตรฐานความปลอดภัยอยู่ในระดับที่องค์การอนามัยโลกพิจารณาว่ามีผลกระทบต่อทุกคนอย่างรุนแรง จนถึงระดับอันตราย2 อยู่บ่อยครั้ง โดยเฉพาะช่วงเดือนธันวาคมถึงเมษายนเนื่องจากสภาพภูมิอากาศที่แห้งแล้ง และอากาศมีการถ่ายเทน้อย ทำให้ช่วงเวลาดังกล่าวจะมีฝุ่นและมลพิษทางอากาศที่สูงกว่าช่วงอื่น นอกจากนี้ ยังเป็นช่วงฤดูการเผาภายหลังการเก็บเกี่ยวผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรเพื่อเตรียมสำหรับการเพาะปลูกครั้งต่อไป เนื่องจากเป็นวิธีที่ประหยัดต้นทุนแรงงาน เครื่องจักร รวมทั้งใช้เวลาไม่นานในการเก็บเกี่ยวพืชผล โดยเฉพาะสำหรับการปลูกพืชเชิงเดี่ยว ในพื้นที่ค่อนข้างใหญ่อย่างเช่นผลผลิตอ้อย ข้าว และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ทั้งจากภายในประเทศ และในเขตประเทศเพื่อนบ้าน ที่อาจทำให้เกิดการเผาไหม้ลุกลามไปยังพื้นที่ป่าไม้ธรรมชาติ ทั้งนี้ เมื่อมองผลกระทบต่อภาวะโลกร้อน เฉพาะการเผาฟางข้าวในที่โล่งแจ้งมีการปล่อย CO2 ประมาณ 24.6 ล้านตันต่อปี3  จะเทียบเคียงได้กับการปล่อย CO2 จากกิจกรรมประจำวันของคนไทยได้ถึง 6.3 ล้านคน 


แม้จะมีกฎหมายและมาตรการป้องกัน แต่ปัญหาใหญ่อยู่ที่ภาคปฏิบัติและการร่วมมือจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง
        อันที่จริงแล้ว ในส่วนของมาตรการแก้ไขและป้องกันนั้น รัฐบาลได้เพิ่มโทษจากการเผาป่าให้รุนแรงขึ้น โดยมีโทษจำคุกตั้งแต่ 4-20 ปี หรือปรับตั้งแต่ 400,000 บาท ถึง 2 ล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ตาม พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2562 รวมถึงมีโทษ จําคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 50,000 บาท หรือทั้งจําทั้งปรับ (ถ้าได้กระทําเกินเนื้อที่เกินกว่า 25 ไร่ จําคุกตั้งแต่ 2 ปี ถึง 15 ปี และปรับตั้งแต่ 10,000 บาทถึง 100,000 บาท) ตามกฎหมายอาญา นอกจากนี้ ภาครัฐยังมีมาตรการทางการคลังสร้างแรงจูงใจให้เกษตรกรลดการเผาอ้อย โดยให้เงินช่วยเหลือเพื่อตัดอ้อยสดแก่เกษตรกรในปีงบประมาณ 2564 และ 2565 เป็นจำนวน 5,933 ล้านบาท และ 8,320 ล้านบาท ตามลำดับ สำหรับเรื่องฝุ่น รัฐบาลได้กำหนดให้การแก้ไขปัญหามลภาวะด้านฝุ่นละอองเป็นวาระแห่งชาติตั้งแต่ปี 2562 และมีการจัดทำแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติการแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละอองในปีเดียวกันซึ่งได้วางแนวทางการแก้ไขปัญหาทั้งในระยะสั้นและระยะยาว โดยติดตามเฝ้าระวังและบังคับใช้กฎหมายเพื่อหยุดกิจกรรมที่ก่อให้เกิดฝุ่นละอองทั้งในภาคเกษตรกรรม อุตสาหกรรม และการขนส่ง รวมถึงแนวทางการปรับปรุงมาตรฐานน้ำมันเชื้อเพลิงกำมะถันต่ำและการนำมาตรฐาน EURO 5 และ 6 มาใช้สำหรับรถยนต์ใหม่
        อย่างไรก็ดี การแก้ไขปัญหาทั้งไฟป่าและฝุ่นละอองในทางปฏิบัติ ก็ยังมีความท้าทายมาก เพราะเป็นปัญหาที่ซับซ้อน ยกตัวอย่างเช่น 1) การดูแลและจับกุมผู้ที่ทำผิดกฎหมายการเผาพืชภายหลังการเก็บเกี่ยว หรือแม้กระทั่งป่า ต้องอาศัยงบประมาณ ทรัพยากรเจ้าหน้าที่รัฐจำนวนมาก รวมถึงความร่วมมือจากท้องถิ่น 2) ทางเลือกในการเผาวัสดุเหลือใช้สำหรับภาคเกษตร ยังตอบโจทย์เรื่องต้นทุนที่ถูกกว่าการใช้เครื่องจักร อีกทั้งยังสะดวกต่อการเตรียมแปลงเพื่อเพาะปลูกกว่าการฝังกลบที่ต้องใช้ระยะเวลานานในการย่อยสลายและวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรมีมูลค่าน้อย 3) การแก้ปัญหาที่ยั่งยืนขึ้นสำหรับเกษตรกรด้วยการสร้างแรงจูงใจให้มาปลูกพืชในลักษณะผสมผสานมากขึ้น รวมถึงการสร้างอาชีพทางเลือก เพื่อลดปัญหาการบุกรุกป่า หรือการปลูกพืชเชิงเดี่ยวตามการสนับสนุนของนายทุน ต้องอาศัยทั้งความเข้าใจ การสนับสนุนอย่างต่อเนื่องจากภาครัฐ ภาคเอกชน ชุมชน และเวลา 4) การลดปัญหาการเผาป่าหรือเผาพืช จากประเทศเพื่อนบ้าน ก็ต้องอาศัยความต่อเนื่องของการเจรจาและความร่วมมือระหว่างกันที่เข้มแข็ง 5) ปัญหาฝุ่นละอองในเขตเมืองมาจากภาคอุตสาหกรรมและรถยนต์เครื่องยนต์ดีเซล ซึ่งการเปลี่ยนเครื่องจักรเก่าที่ใช้ในการผลิต และการเปลี่ยนรถยนต์จำเป็นต้องใช้เงินลงทุนจำนวนมาก อีกทั้งคณะรัฐมนตรีมีมติเลื่อนการบังคับใช้มาตรฐานควบคุมมลพิษของรถยนต์รุ่นใหม่เป็นมาตรฐาน EURO 5 ไปเป็นปี 2567 6) หน่วยงานของรัฐในระดับภูมิภาคยังเผชิญกับปัญหาในด้านงบประมาณ เนื่องจากมีงบประมาณไม่เพียงพอเพื่อมาใช้ในการแก้ปัญหาฝุ่นละอองได้ ทำให้เกิดปัญหาขาดแคลนบุคลากรและอุปกรณ์ในการแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง

ประสบการณ์ในต่างประเทศ...เลือกใช้มาตรการเข้มงวด จริงจัง
        ในต่างประเทศมีแนวทางการแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองที่ประสบความสำเร็จ โดยประเทศจีนมีความพยายามแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองมาตั้งแต่ปี 2556 โดยการใช้มาตรการที่เข้มงวดและต่อเนื่อง ทั้งการกำจัดปริมาณการผลิตไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าถ่านหิน โรงงานเหล็กกล้า กระจก ซีเมนต์ ที่มีเครื่องจักรไม่เป็นไปตามมาตรฐาน สั่งหยุดการผลิตสินค้าในโรงงานที่ปล่อยมลพิษจนกว่าจะมีการแก้ไข เปลี่ยนเครื่องจักรที่ใช้เชื้อเพลิงถ่านหินเป็นก๊าซธรรมชาติ ส่งเสริมการลงทุนพลังงานสะอาด และยกระดับมาตรฐานการปล่อยมลพิษจากรถยนต์ รวมถึงมีการจัดสรรงบประมาณเพื่อจัดการมลพิษระหว่างปี 2556 – 2560 เป็นจำนวน 2.77 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ5
        ขณะที่ประเทศสิงคโปร์เผชิญกับปัญหาฝุ่นละอองจากการเผาป่าในประเทศอินโดนีเซีย ทางการสิงคโปร์จึงได้บังคับใช้กฎหมายหมอกควันข้ามพรมแดน หรือ Transboundary Haze Pollution Act ตั้งแต่ปี 2557 เพื่อการดำเนินคดีกับธุรกิจสวนปาล์มน้ำมันในอินโดนีเซียของบริษัทที่มีที่ตั้งในสิงคโปร์และพิสูจน์ได้ว่ารับซื้อปาล์มน้ำมันหรือมีส่วนเกี่ยวข้องทั้งทางตรงและทางอ้อมกับการเผาป่า เป็นต้น
        สุดท้ายแล้ว...เราต่างรู้กันว่า...ปัญหาฝุ่นละอองเป็นมลพิษทางอากาศที่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อสุขภาพของประชาชน ความหลากหลายทางชีวภาพ ระบบนิเวศป่าไม้ และส่งผลกระทบทางอ้อมต่อเศรษฐกิจ อีกทั้งยังส่งผลต่อการบรรลุเป้าหมายในการลดปัญหาสภาพภูมิอากาศ ซึ่งประเทศไทยเองก็ให้คำมั่นสัญญาไว้ว่าจะบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอนให้ได้ภายในปี 2050 และมีการปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2065 ดังนั้น สถานการณ์ไฟป่าที่เพิ่งเกิดขึ้น ซึ่งซ้ำเติมปัญหาฝุ่นละอองที่มีแต่จะรุนแรงขึ้นนี้ จึงย้ำปัญหาคุณภาพชีวิตของประชากรไทย ทำให้การหาแนวทางแก้ไขที่เหมาะสมกับแต่ละพื้นที่ และจะต้องเป็นแนวทางที่ยั่งยืนในทางปฏิบัติ...ย่อมจะเป็นโจทย์ท้าทายรัฐบาลที่จะมาจากการเลือกตั้งที่กำลังใกล้เข้ามานี้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ 

1 สำนักป้องกัน ปราบปราม และควบคุมไฟป่า
2 ค่า PM2.5 มากกว่า 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร จากค่าแนะนำไม่เกิน 5 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร
3 จากปริมาณเศษฟางข้าวเหลือทิ้งจำนวน 22 ล้านตันต่อปี ไม่รวมการปล่อยก๊าซประเภทอื่น เช่น CO, NOx, SO2 ที่มา: การประเมินการปลดปล่อยมลพิษจากการเผาไหม้ฟางข้าวในที่โล่งแจ้ง, วารสารวิศวกรรมฟาร์มและเทคโนโลยีการควบคุมอัตโนมัติ
4 ปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เฉลี่ยต่อหัวคนไทยปี 2561เท่ากับ 3.9 ตันต่อคน
https://thediplomat.com/2013/07/chinese-government-will-spend-277-billion-to-combat-air-pollution/

Scan QR Code


QR Code

หมายเหตุ

รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น

Econ Digest