Display mode (Doesn't show in master page preview)

12 เมษายน 2566

Econ Digest

วิกฤตฝุ่น PM2.5 อาจยิ่งแย่...ถ้าไม่เร่งจัดการ

คะแนนเฉลี่ย

        วิกฤตฝุ่นละออง PM2.5 เกินค่ามาตรฐาน ไม่ใช่ปัญหาชั่วคราวและมีความเสี่ยงจะยิ่งแย่ลงในระยะข้างหน้า ถ้าไม่เร่งจัดการ โดยสถิติย้อนหลังของสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศ ต.ศรีภูมิ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ พบว่าค่าเฉลี่ย PM2.5 ช่วงเดือนเมษายน 2566 อยู่ในระดับที่รุนแรงสุดในรอบหลายปี ซึ่งหนึ่งในสาเหตุสำคัญที่มักจะทำให้ค่าเฉลี่ยฝุ่น PM2.5 เกินค่ามาตรฐานอย่างรุนแรงในช่วงปลายปีต่อเนื่องถึงต้นปีถัดไป ก็คือการเผาในภาคเกษตรหรือพืชไร่ โดยมักจะมีการเผาก่อนจะเริ่มการเพาะปลูกใหม่หรือเป็นการเผาไปเก็บเกี่ยวไป ซึ่งมีความเป็นไปได้ที่ปริมาณผลผลิตพืชไร่ต่างๆ ในไทยและประเทศเพื่อนบ้านอาจยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในปีนี้ สอดรับกับการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ และความต้องการที่ยังมีรองรับ ท่ามกลางเหตุการณ์ในยูเครนที่ยืดเยื้อและวิกฤตอาหารที่เกิดขึ้นในหลายประเทศทั่วโลก

        อย่างไรก็ตาม ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มีการประเมินว่าวิกฤตฝุ่น PM2.5 ในรอบนี้ ได้ส่งผลกระทบต่อภาคการท่องเที่ยว อย่างพื้นที่ภาคเหนืออาจสูญเสียโอกาสในการสร้างรายได้จากการท่องเที่ยว ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ 5 วัน (13-17 เมษายน 2566) คิดเป็นเม็ดเงินไม่ต่ำกว่า 700 ล้านบาท สะท้อนจากผลสำรวจการท่องเที่ยวช่วงเทศกาลสงกรานต์ ที่พบว่ากลุ่มตัวอย่างคนกรุงเทพฯ เลือกจังหวัดทางภาคเหนือลดลงเฉลี่ย 30% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเฉพาะจังหวัดเชียงใหม่และเชียงราย ซึ่งไม่เพียงแต่ภาคเหนือเท่านั้น พื้นที่อื่นๆ ก็อาจได้รับผลกระทบจากปัญหานี้เช่นกันในระดับที่แตกต่างกันออกไป นอกจากนี้ ปัญหาฝุ่น PM2.5 ที่เกินค่ามาตรฐาน ยังส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนที่ยากจะประเมินความสูญเสียออกมาเป็นมูลค่าได้  ดังนั้น การเร่งจัดการวิกฤตฝุ่น PM2.5 จึงเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องทำอย่างเร่งด่วนและทำอย่างต่อเนื่อง โดยอาจพิจารณามาตรการเฉพาะหน้าเพื่อดูแลคนในพื้นที่ ควบคู่ไปกับการดำเนินมาตรการสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านซัพพลายเชนในภาคการผลิตและภาคการบริการไปสู่กิจการที่ยั่งยืนหรือเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

 


Click
 ชมคลิป วิกฤตฝุ่น PM2.5 อาจยิ่งแย่...ถ้าไม่เร่งจัดการ

Scan QR Code


QR Code

หมายเหตุ

รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น

Econ Digest