Display mode (Doesn't show in master page preview)

17 พฤษภาคม 2565

Econ Digest

อุปทานโลกตึงตัว ดันราคาน้ำมันพืชพุ่ง คาด...ราคาน้ำมันปาล์มบรรจุขวดเฉลี่ยทั้งปี 2565 อยู่ที่ 65-68 บาท/ขวด เพิ่มขึ้น 35-41% YoY

คะแนนเฉลี่ย

​ราคาน้ำมันพืชในตลาดโลกปี 2565 ยังมีแนวโน้มขยับขึ้น จากปัญหาอุปทานตึงตัวจากความตึงเครียดระหว่างรัสเซีย-ยูเครน การระงับการส่งออกน้ำมันปาล์มของผู้ผลิตและส่งออกรายใหญ่ของโลกอย่างอินโดนีเซีย ท่ามกลางสถานการณ์สินค้าทดแทนที่มีจำกัด และอุปสงค์ในตลาดโลกที่ยังอยู่ในระดับสูง โดยเฉพาะความต้องการจากผู้ซื้อรายใหญ่อย่างอินเดียและจีน ซึ่งนอกจากปัจจัยเหล่านี้ที่กดดันราคาน้ำมันพืชในตลาดโลกและไทยแล้ว ยังมีปัจจัยในประเทศ ได้แก่ ความต้องการน้ำมันพืชหลักในไทยยังอยู่ในระดับสูง ปริมาณผลผลิตปาล์มน้ำมันของไทยที่ใกล้จะหมดฤดูกาลเก็บเกี่ยว สต็อกปริมาณน้ำมันปาล์มดิบคงเหลืออยู่ในระดับต่ำกว่า Safety Stock และต้นทุนการผลิตที่ขยับสูงขึ้น ซึ่งกดดันราคานำมันพืชในไทยด้วย


ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาด ในช่วงที่เหลือปี 2565 ราคาน้ำมันพืชหลักในไทยอย่าง น้ำมันปาล์ม ยังมีโอกาสขยับสูงขึ้น เมื่อเทียบกับช่วง 4 เดือนแรกปี 2565 และทำให้ราคาน้ำมันปาล์ม (สำเร็จรูปบรรจุขวด) เฉลี่ยทั้งปีอยู่ที่ 65-68 บาท/ขวด (1ลิตร) เพิ่มขึ้น 35-41%YoY จากปี 2564 ที่เฉลี่ยอยู่ที่ 48.12 บาท/ขวด ภายใต้สมมติฐานที่ว่าอินโดนีเซียอาจจะกลับมาส่งออกน้ำมันปาล์มโอเลอีนได้อีกครั้ง ผลผลิตปาล์มน้ำมันของมาเลเซียจะทยอยออกมาเพิ่มขึ้นตั้งแต่ไตรมาสที่ 3 และรัสเซียน่าจะส่งออกน้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันดอกทานตะวันได้ในช่วงฤดูกาลเก็บเกี่ยวครึ่งหลังปี 2565 ส่วนราคาน้ำมันพืชในไทย แม้จะยืนสูงแต่อาจไม่ได้เร่งตามต้นทุนที่แท้จริงเพราะภาครัฐขอความร่วมมือผู้ประกอบการให้ช่วยตรึงราคาน้ำมันพืชสำเร็จรูปบรรจุขวดไว้หรืออยู่ในโครงสร้างราคาที่กรมการค้าภายในกำหนด


ผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากราคาน้ำมันพืชสูงขึ้น คือ ครัวเรือน ร้านอาหาร และอุตสาหกรรมอาหารที่ใช้น้ำมันพืชในสัดส่วนสูง อาทิ ขนมขบเคี้ยว บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ไอศกรีม นมข้นหวาน ครีมเทียม และผลิตภัณฑ์อาหารเสริมบางอย่าง ซึ่งทำให้ราคาสินค้าในหมวดดังกล่าวมีโอกาสปรับเพิ่มขึ้น สำหรับประเด็นต้องจับตาในช่วงที่เหลือของปีนี้ คือ วิกฤติรัสเซีย-ยูเครนที่จะส่งผลต่อสถานการณ์พลังงาน ธัญพืชและน้ำมันพืชในตลาดโลก ต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้น ระยะเวลาการกลับมาส่งออกของอินโดนีเซีย การเร่งเพิ่มกำลังการผลิตของมาเลเซียหลังเปิดประเทศ สต็อกน้ำมันปาล์มดิบคงเหลือของไทย และมาตรการแก้ปัญหาด้านอุปทานในตลาดของภาครัฐ

Scan QR Code


QR Code

หมายเหตุ

รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น

Econ Digest