Display mode (Doesn't show in master page preview)

21 พฤศจิกายน 2565

Econ Digest

ตลาดที่อยู่อาศัย หลังสิ้นสุดการผ่อนปรน LTV

คะแนนเฉลี่ย

   ในปี 2565 เครื่องชี้กิจกรรมตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่อยู่อาศัยสะท้อนภาพการฟื้นตัวดีขึ้น แต่ยังไม่ทั่วถึง ซึ่งจากความเชื่อมั่นต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจหลังโควิดคลี่คลายและการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว  ทำให้ผู้ประกอบการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่อยู่อาศัยกลับมาเร่งลงทุนเปิดโครงการใหม่มากขึ้น โดยจากข้อมูลของ AREA พบว่า 9 เดือนแรกปี 2565 การเปิดตัวที่อยู่อาศัยใหม่ในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑลมีอัตราการเติบโตสูงถึง 110% YoY หรือมีจำนวน 7.7 หมื่นหน่วย ซึ่งมากกว่าครึ่งเป็นการเปิดตัวคอนโดมิเนียม และส่วนใหญ่ที่เปิดตัวเป็นกลุ่มระดับราคาต่ำกว่า 2 ล้านบาท อย่างไรก็ดี เมื่อพิจารณาในส่วนของกิจกรรมการซื้อขายที่อยู่อาศัยใหม่ยังฟื้นตัวไม่ทั่วถึง เนื่องจากกำลังซื้อของครัวเรือนโดยรวมยังมีความเปราะบางจากภาระค่าครองชีพและหนี้ที่สูง และการซื้อขายที่อยู่อาศัยมือสองที่ได้รับการตอบรับที่ดีจากผู้ซื้อ แม้มองว่าในช่วง 2 เดือนสุดท้ายของปี 2565 อาจจะเห็นการเร่งตัวของยอดโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยมากขึ้น หลังจากที่มาตรการผ่อนปรน LTV จะสิ้นสุดลงสิ้นปีนี้ แต่ก็ยังคงต้องขึ้นอยู่กับความสามารถและคุณสมบัติของผู้ซื้อ


    แนวโน้มตลาดที่อยู่อาศัยปี 2566 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เพิ่มมุมมองเชิงระวังมากขึ้น จากปัจจัยหนุนเริ่มเบาบาง หลังสิ้นสุดมาตรการผ่อนคลาย LTV ในวันที่ 31 ธ.ค. 2565 ซึ่งตลาดต้องติดตามว่าทางการจะต่ออายุมาตรการลดค่าธรรมเนียมในการซื้อที่อยู่อาศัยหรือไม่ ขณะที่การฟื้นตัวของเศรษฐกิจยังมีความไม่แน่นอนสูง กำลังซื้อยังเปราะบาง อัตราดอกเบี้ยอยู่ในทิศทางขาขึ้น ต้นทุนธุรกิจปรับตัวสูงขึ้น การแข่งขันในธุรกิจสูงและจำนวนที่อยู่อาศัยรอขายสะสมสูง โดยคาดว่า จำนวนที่อยู่อาศัยรอขายสะสมในกรุงเทพฯและปริมณฑล ณ สิ้นปี 2565 น่าจะสูงกว่าช่วงครึ่งปีแรกที่มีประมาณ 2.07 แสนหน่วย ซึ่งทั้งหมดนี้ล้วนยังเป็นแรงกดดันต่อกิจกรรมการซื้อและการลงทุนที่อยู่อาศัยในระยะข้างหน้า


    ดังนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จึงมองว่า ในปี 2566 ยอดโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล (รวมนิติบุคคลและบุคคลธรรมดา) น่าจะอยู่ที่ประมาณ 1.75-1.82 แสนหน่วย หรือหดตัว 2.8% ถึงขยายตัว 1.1% เทียบกับที่คาดว่าจะขยายตัว 7.5% ในปี 2565 ขณะที่การเปิดตัวโครงการที่อยู่อาศัยใหม่ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล อาจจะลดลงเป็น 8.9-9.6 หมื่นหน่วย หรือหดตัว 6.3% ถึง ขยายตัว 1.1% เทียบกับที่เติบโตประมาณ 57.1% ในปี 2565


 


Click
 ชมคลิป ตลาดที่อยู่อาศัย หลังสิ้นสุดการผ่อนปรน LTV


Scan QR Code


QR Code

หมายเหตุ

รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น