Display mode (Doesn't show in master page preview)

11 มีนาคม 2563

Econ Digest

อุตสาหกรรมดิจิทัลไทย....จะไปถึงระดับโลกได้หรือไม่ ?

คะแนนเฉลี่ย

​          ในบรรดาอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ อุตสาหกรรมดิจิทัลเป็นอุตสาหกรรมที่มีจำนวนโครงการที่ยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนมากที่สุดโดยมีจำนวนโครงการมากถึง 185 โครงการ คิดเป็นมูลค่าเงินลงทุนสูงถึง 9,014 ล้านบาทในปี 2562  ในช่วงเริ่มแรกที่มีการส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมดิจิทัล ผู้ขอรับส่งเสริมการลงทุนส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการไทย ต่อมาก็เริ่มมีนักลงทุนต่างชาติมาขอรับการส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมดิจิทัลมากขึ้นเรื่อย ๆ และในปี 2562 ประมาณ 92% ของผู้ขอรับส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมดิจิทัลเป็นนักลงทุนต่างชาติ นี่อาจจะเป็นสัญญาณที่ดีว่า นักลงทุนต่างชาติเริ่มเข้ามาลงทุนในอุตสาหกรรมดิจิทัลไทย และประเทศไทยจะได้เริ่มต้นพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งอนาคตกันอย่างเป็นรูปธรรมกันเสียที


            ก่อนจะพูดถึงแนวโน้มของอุตสาหกรรมดิจิทัลไทยในฐานะอุตสาหกรรมแห่งอนาคต เราขอจำแนกอุตสาหกรรมดิจิทัลออกเป็น 2 ประเภท คือ (1) อุตสาหกรรมพัฒนาซอฟต์แวร์สำหรับ internationalization ที่ผู้พัฒนาซอฟต์แวร์มีเจตนาให้ซอฟต์แวร์ของตนสามารถใช้ได้ทั่วโลก โดยมีการเขียนโปรแกรมที่มีความยืดหยุ่น เพื่อให้รองรับได้หลายภาษา และสามารถดัดแปลงให้เข้ากับข้อบังคับในแต่ละพื้นที่ได้โดยง่าย  และ(2) อุตสาหกรรมพัฒนาซอฟต์แวร์สำหรับ localization ที่ผู้พัฒนาซอฟต์แวร์ปรับเปลี่ยนภาษา และดัดแปลงซอฟต์แวร์ให้เข้ากับพฤติกรรมของคนในพื้นที่ ตลอดจน แก้ไขทางเทคนิคเพื่อให้สอดคล้องกับกฎหมายในประเทศนั้น ๆ
           เมื่อวิเคราะห์ลงไปในฐานข้อมูลของโครงการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมดิจิทัลทั้งหมดจะพบว่า มีผู้ประกอบการไทยน้อยกว่า 10% ที่เป็นผู้พัฒนาซอฟต์แวร์สำหรับ internationalization เหมือนอย่างเช่น ผู้พัฒนาแพลตฟอร์ม Grab หรือ Amazon และยังไม่มีนักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนพัฒนาซอฟต์แวร์สำหรับ internationalization ในประเทศไทยเลย ถึงอย่างนั้นก็ตาม นี่ก็ไม่ได้หมายความว่าประเทศไทยล้มเหลวในการพัฒนาอุตสาหกรรมดิจิทัล เพราะอุตสาหกรรมพัฒนาซอฟต์แวร์สำหรับ localization ก็มีความสำคัญในการเพิ่มประสิทธิภาพของภาคธุรกิจและภาคการผลิต นอกจากนี้ การที่บริษัทต่างชาติเข้ามาลงทุนในอุตสาหกรรมดิจิทัลในไทยมากขึ้น ยังบ่งบอกถึงความตื่นตัวของภาคธุรกิจไทยที่จะใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อการบริหารจัดการ จนก่อให้เกิดความต้องการซอฟต์แวร์ในรูปแบบต่าง ๆ และสร้างโอกาสทางธุรกิจให้กับบริษัทต่างชาติในการพัฒนาซอฟต์แวร์สำหรับ localization นอกจากนี้ การพัฒนาซอฟต์แวร์สำหรับ localization นั้น ก็มีระดับเทคโนโลยีที่ปรับใช้ค่อนข้างหลากหลาย ปัจจุบัน โครงการลงทุนจากต่างชาติส่วนใหญ่ยังเป็นการพัฒนาซอฟต์แวร์ที่เน้นการแปลซอฟต์แวร์เป็นภาษาไทย และดัดแปลงซอฟต์แวร์ทางเทคนิคให้เข้ากับข้อกฎหมายในประเทศไทย เช่น ซอฟต์แวร์ระบบโปรแกรม ERP (Enterprise Resource Planning) ที่ประกอบด้วย ระบบบัญชี ระบบจ่ายเงินเดือน ระบบจัดการคลังสินค้า ระบบขายหน้าร้าน POS และระบบบริหารความสัมพันธ์ลูกค้า เป็นต้น  ซึ่งการ localization ซอฟต์แวร์ประเภทนี้สามารถสร้างมูลค่าเพิ่ม และเพิ่มประสิทธิภาพของภาคธุรกิจไทยได้ในระดับหนึ่ง
             เมื่อเปรียบเทียบอุตสาหกรรมดิจิทัลไทยกับประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคอาเซียนจะพบว่า นักลงทุนต่างชาติที่ไปลงทุนพัฒนาซอฟต์แวร์ในเวียดนามและอินโดนีเซียส่วนใหญ่ มักจะไปลงทุนในธุรกิจแพลตฟอร์มเพื่อขยายตลาดในประเทศเหล่านั้น เนื่องจากเวียดนามและอินโดนีเซียมีประชากรจำนวนมาก และมีกำลังซื้อเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ส่วนประเทศไทย ถึงแม้ว่าตลาดของเรามีขนาดเล็กกว่าและจำนวนประชากรก็จะเริ่มลดลงภายในอีก 10 ปีข้างหน้า  แต่ภาคธุรกิจไทยก็มีการยอมรับเทคโนโลยีดิจิทัลในการบริหารจัดการมากกว่า และภาคการผลิตก็ต้องการระบบอัตโนมัติเพื่อทดแทนแรงงานที่มีแนวโน้มขาดแคลนมากขึ้นเรื่อย ๆ ประกอบกับ ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตของอุตสาหกรรมการผลิตในภูมิภาค เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์ และอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ดังนั้น จุดแข็งของอุตสาหกรรมดิจิทัลไทยจึงอยู่ที่ความต้องการซอฟต์แวร์ของภาคธุรกิจและภาคการผลิต โดยความต้องการซอฟต์แวร์เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพของภาคการผลิต เช่น Embedded Software ที่ใช้สำหรับระบบเครื่องจักรอัตโนมัติ จะเพิ่มขึ้นภายในระยะเวลา 5 ปีข้างหน้า นอกจากนี้ ความต้องการซอฟต์แวร์สำหรับเทคโนโลยีดิจิทัลขั้นสูง เช่น AI ที่เข้าใจภาษาไทย (Language recognition and natural language understanding) สำหรับใช้บนระบบ call center ก็มีแนวโน้มสูงขึ้นในอนาคต  
             อย่างไรก็ตาม เราต้องไม่ลืมว่า การพัฒนาซอฟต์แวร์สามารถทำที่ไหนก็ได้ในโลก แล้วค่อยมา localization เพื่อให้เข้ากับประเทศไทยในภายหลัง  ซึ่งจุดอ่อนของเราอยู่ที่ทักษะด้านดิจิทัลของคนไทย เห็นได้จากการจัดลำดับของ IMD Digital Competitiveness Ranking 2019 ที่จัดลำดับด้านทักษะความสามารถด้านดิจิทัลของคนไทย (Digital/technological skills) ไว้อันดับที่ 49 จาก 63 ประเทศทั่วโลก เพราะฉะนั้น หากประเทศไทยต้องการพัฒนาอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์สำหรับ internationalization เราต้องเร่งพัฒนาบุคลากรผู้เชี่ยวชาญด้านไอที ทั้งในระดับผู้พัฒนาซอฟต์แวร์ทั่วไป และระดับผู้เชี่ยวชาญด้าน disruptive technology  เพราะนี่คือปัจจัยที่จะตัดสินว่าอุตสาหกรรมดิจิทัลไทยจะไปถึงระดับโลกได้หรือไม่

Scan QR Code


QR Code

หมายเหตุ

รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น

Econ Digest