Display mode (Doesn't show in master page preview)

10 กันยายน 2563

Econ Digest

THOR อัตราดอกเบี้ยอ้างอิงใหม่ ที่...ธุรกิจควรรู้

คะแนนเฉลี่ย

              จุดเริ่มต้นของจุดจบ LIBOR เกิดขึ้นเมื่อประมาณ 8 ปีก่อน หลังหน่วยงานกำกับด้านการเงินของสหรัฐฯ และยุโรปตรวจพบว่า มีสถาบันการเงินบางแห่งจงใจรายงานข้อมูลอัตราดอกเบี้ย LIBOR ที่บิดเบือนและเป็นเท็จ เพื่อเอื้อผลประโยชน์บางอย่าง โดยเหตุการณ์ในครั้งนั้นทำลายความน่าเชื่อถือของ LIBOR ลงไปอย่างมาก และแม้ว่าจะมีความพยายามปรับปรุงการจัดทำ LIBOR เพื่อสร้างความโปร่งใสและเรียกคืนความเชื่อมั่น แต่ปริมาณธุรกรรมในตลาดยังคงลดลง ขณะที่หน่วยงานกำกับดูแลภาคการเงินของอังกฤษประกาศว่า หลังจากปี 2564 เป็นต้นไป จะไม่มีการกำหนดให้ธนาคารต้องนำส่งข้อมูลเพื่อจัดทำ LIBOR อีกต่อไป

               หนึ่งในภารกิจสำคัญของหน่วยงานกำกับดูแลภาคการเงินของหลายประเทศในช่วงที่เตรียมจะต้องบอกลา LIBOR ก็คือ การพัฒนาอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงตัวใหม่ขึ้นมาใช้ทดแทน โดยขณะนี้ สหรัฐฯ อังกฤษ สวิสเซอร์แลนด์ ยูโรโซน และญี่ปุ่นต่างก็พัฒนาอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงระยะข้ามคืนในรูปสกุลเงินของแต่ละประเทศขึ้น ซึ่งสำหรับไทย ธปท. ได้พัฒนาอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงระยะข้ามคืนตัวใหม่ที่ชื่อว่า THOR (Thai Overnight Repurchase Rate) ขึ้นเพิ่มเติมเช่นกัน จากที่ในปัจจุบัน ตลาดเงินของไทยมีอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงตัวหลัก ก็คือ อัตราดอกเบี้ย BIBOR และ THBFIX

                จุดเด่นของอัตราดอกเบี้ย THOR จะอยู่ที่ความสามารถในการสะท้อนภาวะสภาพคล่องของเงินบาทในตลาดเงินของไทย และเคลื่อนไหวสอดคล้องกับอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยมากกว่าอัตราดอกเบี้ย THBFIX ที่จะผันผวนตามสภาพคล่องของเงินดอลลาร์ฯ และได้รับผลกระทบจากการสิ้นสุดลงของ LIBOR นอกจากนี้อัตราดอกเบี้ย THOR ยังถูกคำนวณขึ้นมาจากธุรกรรมที่เกิดขึ้นจริงในตลาด Repo ภาคเอกชนของไทย (สูงกว่า 1 แสนล้านบาทต่อวัน) ซึ่งแตกต่างจากอัตราดอกเบี้ย BIBOR ที่มาจากการสอบถามแต่ละธนาคารในแต่ละวัน และไม่ค่อยมีธุรกรรมที่อ้างอิง BIBOR มากนัก

                สำหรับภาคธุรกิจแล้ว บริษัทขนาดใหญ่น่าจะมีความคุ้นชินกับอัตราดอกเบี้ย THBFIX มากกว่าบริษัทขนาดกลางและเล็กที่จะมีความคุ้นเคยกับอัตราดอกเบี้ย MLR เป็นหลัก ... ดังนั้นแล้ว ภาคธุรกิจ โดยเฉพาะธุรกิจรายใหญ่ ควรตรวจสอบสัญญาสินเชื่อเดิมที่อ้างอิงกับอัตราดอกเบี้ย THBFIX และติดต่อสถาบันการเงินเพื่อปรับข้อความในสัญญาสินเชื่อที่อ้างอิง THBFIX ให้รองรับการเปลี่ยนมาใช้ Fallback THBFIX ที่จะเริ่มมีผลตั้งแต่ปี 2565 โดย Fallback THBFIX เป็นอัตราดอกเบี้ยที่จะใช้แทน THBFIX หลังการสิ้นสุดลงของอัตราดอกเบี้ย LIBOR แต่ก็จะมีผลเฉพาะกับสัญญาสินเชื่อเดิมที่ยังไม่หมดอายุลงเท่านั้น

                 ​นอกจากนี้ผู้ประกอบการภาคธุรกิจต้องเตรียมทำความรู้จักกับอัตราดอกเบี้ย THOR ที่คาดว่าจะใช้เป็นอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงในสัญญาสินเชื่อ หรือผลิตภัณฑ์ทางการเงินใหม่ๆ โดยน่าจะทยอยเห็นแนวทางการพัฒนาการใช้ดอกเบี้ย THOR มากขึ้นในช่วง 1-3 ปีข้างหน้านับจากนี้ อย่างไรก็ดี ความนิยมแพร่หลายของ THOR ในระยะถัดไป คงต้องฝากความหวังไว้ที่ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ทั้งธปท. หน่วยงานของทางการ สถาบันการเงิน ตลอดจนภาคธุรกิจ

                

Scan QR Code


QR Code

หมายเหตุ

รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น

Econ Digest