Display mode (Doesn't show in master page preview)

5 พฤศจิกายน 2563

Econ Digest

จบศึกเลือกตั้งสหรัฐฯ จับตาสินค้าส่งออกไทย

คะแนนเฉลี่ย
​การส่งออกของไทยไปสหรัฐฯ ในปี 2564 หลักๆ จะได้อานิสงส์จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ผ่านพ้นจุดต่ำสุดในปีนี้ ขณะที่นโยบายของว่าที่ผู้นำคนใหม่ เป็นอีกปัจจัยเสริมที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจสหรัฐฯ และหนุนการส่งออกของไทยให้เร่งตัวไปพร้อมกัน ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า หากเป็นนายโจ ไบเดน เข้ามาบริหารประเทศ จะทำให้การส่งออกไปสหรัฐฯ ในปี 2564 กลับมาเร่งตัวได้ดีกว่าที่ร้อยละ 10-12 มีมูลค่าการส่งออกที่ 36,700-37,300 ล้านดอลลาร์ฯ แต่ถ้าเป็นนโยบายของนายโดนัลด์ ทรัมป์ การส่งออกของไทยไปสหรัฐฯ เติบโตค่อนข้างจำกัด โดยต่ำกว่าร้อยละ 5.0 มีมูลค่าการส่งออกประมาณ 35,000 ล้านดอลลาร์ฯ

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า ธุรกิจและการส่งออกของไทย ที่มีโอกาสทำตลาดได้มากขึ้นหลังเลือกตั้งสหรัฐฯ ได้แก่ (1) สินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นโดยเฉพาะในกลุ่มอาหาร เช่น อาหารทะเลกระป๋อง/แปรรูป ข้าว ผลไม้กระป๋อง อาหารสัตว์เลี้ยง และสินค้าเกษตร น่าจะเห็นภาพการเติบโตอย่างแข็งแกร่งต่อเนื่องจากปีนี้ ไม่ว่าผู้นำคนไหนจะขึ้นมาบริหารประเทศ  (2) สินค้าอุปโภคบริโภคกลุ่มฟุ่มเฟือย อาทิ อัญมณีและเครื่องประดับ ยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า และเฟอร์นิเจอร์ น่าจะได้ประโยชน์จากนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของนายโจ ไบเดนมากกว่า (3) สินค้าขั้นกลางเพื่อการผลิตจะได้อานิสงส์สองทาง ทั้งจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ และนโยบายของนายโจ ไบเดน ที่ให้ความสาคัญกับการลงทุนด้านโครงสร้างฟื้นฐาน พลังงานสะอาด ขยายเครือข่ายระบบ 5G ซึ่งจะหนุนความต้องการสินค้าเหล็กและผลิตภัณฑ์ แผงโซล่าเซลล์และไดโอด อุปกรณ์คอมพิวเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ นอกจากนี้ ภายใต้นโยบายของพรรคเดโมแครต ยังทำให้สินค้าของไทยรับผลพลอยได้ทางอ้อม ผ่านกำลังซื้อของสหรัฐฯ  ที่ฟื้นตัว ทำให้ความต้องการสินค้าอุปโภคบริโภคในทุกหมวดกลับมาได้เร็ว หนุนความต้องการสินค้าขั้นกลางของไทยให้ส่งออกไปตอบโจทย์การผลิตในประเทศต่างๆ เพื่อส่งสินค้าไปยังปลายทางคือ ผู้บริโภคในสหรัฐฯ

อย่างไรก็ดี ไม่ว่าใครจะก้าวขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐฯ จุดร่วมของทั้งคู่คือ เป้าหมายที่จะโดดเดี่ยวจีน นั่นทำให้ในระยะต่อจากนี้ไป การลงทุนในภาคการผลิตยังคงกระจายฐานการผลิตไปยังประเทศอื่น เพื่อลดความเสี่ยงอย่างต่อเนื่อง ทำให้ภาพรวมการค้าของไทยกับจีน โดยเฉพาะในส่วนของห่วงโซ่อุปทานที่เกี่ยวข้องกับสินค้าเทคโนโลยี ที่ผลิตหรือประกอบในจีน ลดบทบาทลงไปโดยปริยาย


Scan QR Code


QR Code

หมายเหตุ

รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น

Econ Digest