Display mode (Doesn't show in master page preview)

17 กรกฎาคม 2563

Econ Digest

สหรัฐฯ ยุติสถานะพิเศษของฮ่องกง การเงิน การค้า การเดินทาง... จะเปลี่ยนไป อย่างไร?

คะแนนเฉลี่ย

​​               นับเป็นเวลายาวนานเกือบ 2 เดือนแล้วที่ความตึงเครียดระหว่างจีนกับสหรัฐฯ ในประเด็นด้านกฎหมายความมั่นคงแห่งชาติซึ่งทางการจีนบังคับใช้ในฮ่องกงได้ก่อให้เกิดความเสี่ยงทางด้านภูมิรัฐศาสตร์โลกครั้งใหม่ปะทุขึ้นมาอีกครั้ง จนล่าสุดประธานาธิบดีสหรัฐฯ ได้อนุมัติคำสั่งบริหารยุติการให้สถานะพิเศษต่อฮ่องกง (Preferential treatment) ที่ปรับใช้มาอย่างยาวนานกว่า 28 ปี ภายใต้กฎหมายว่าด้วยนโยบายสหรัฐฯ – ฮ่องกงปี 2535 (United States- Hong Kong Policy Act)[1] โดยใจความสำคัญของกฎหมาย United States -Hong Kong Policy Act คือ การรองรับให้ความสัมพันธ์ด้านต่างๆ ระหว่างสหรัฐฯ และฮ่องกงยังคงดำรงอยู่ภายหลังจากที่สหราชอาณาจักรส่งคืนฮ่องกงให้แก่จีนในปี 2540 โดยแตกต่างจากนโยบายที่สหรัฐฯ มีต่อจีน ดังนั้น การยุติการให้สถานะพิเศษนี้แก่ฮ่องกงจึงเปรียบเสมือนการปฏิบัติต่อฮ่องกงในวิถีเดียวกันหรือใกล้เคียงกับที่ปฏิบัติต่อจีน ทั้งนี้ การยุติการให้สถานะพิเศษต่อฮ่องกงอาจจะออกมาในรูปแบบของนโยบายที่มีต่อเศรษฐกิจ โดยเฉพาะประเด็นด้านการค้าระหว่างสหรัฐฯ และฮ่องกง (Trade) นโยบายการเข้าเมือง (Immigration) รวมถึงมาตรการคว่ำบาตรต่างๆ (Sanctions)

สำหรับนโยบายด้านการค้าระหว่างสหรัฐฯ และฮ่องกง (Trade) นั้น คาดว่าจะเปลี่ยนแปลงไปในวิถีเดียวกับที่นโยบายการค้าที่สหรัฐฯ มีต่อจีน ซึ่งหมายความว่า สินค้าส่งออกของฮ่องกงไปสหรัฐฯ จะต้องถูกเรียกเก็บภาษีนำเข้าเพิ่มเติมภายใต้มาตรา 301 ของสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีน รวมถึงมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด (Anti-Dumping: AD) และมาตรการตอบโต้การอุดหนุน (Countervailing Duty: CVD) ที่สหรัฐฯ มีต่อจีน (สำหรับ CVD สินค้าจากฮ่องกงจะได้รับผลกระทบเฉพาะในส่วนที่สหรัฐฯ เรียกเก็บกับทั้งอุตสาหกรรมของจีน ไม่รวมมาตรการที่เจาะจงเฉพาะรายบริษัท) อย่างไรก็ดี ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า ผลกระทบต่อสินค้าที่ส่งออกจากฮ่องกงไปยังสหรัฐฯ จะมีน้อยมาก เนื่องจาก

  • สินค้าส่งออกจากฮ่องกงที่จะถูกเรียกเก็บภาษีนำเข้าจากสหรัฐฯ เพิ่มเติมนั้นจะเป็นสินค้าที่ผลิตในฮ่องกงซึ่งคิดเป็นสัดส่วนเพียงเล็กน้อยชองการส่งออกของฮ่องกงไปยังสหรัฐฯ ทั้งนี้ สัดส่วนของสินค้าที่ผลิตในฮ่องกงต่อสินค้าส่งออกรวมไปสหรัฐฯ คิดเป็นเพียงราวร้อยละ 1 หรือมีมูลค่าเพียงราว 400 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ[2] (ข้อมูลปี 2562)
  • สินค้าส่งออกที่ถูกส่งกลับออกไปนอกประเทศ (Re-export) ของฮ่องกงจะไม่ได้รับผลกระทบ โดยในปัจจุบัน สินค้า Re-export ของฮ่องกงที่มีต้นทางมาจากจีน[3] ก็ถูกเรียกเก็บภาษีนำเข้าจากสหรัฐฯ ภายใต้มาตรา 301 ของสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีน หรือแม้แต่ภายใต้มาตรการ AD และ CVD อยู่แล้ว ขณะที่สินค้า Re-export จากประเทศอื่นก็ถูกเรียกเก็บภาษีตามข้อตกลงทางการค้าที่สหรัฐฯ มีต่อประเทศนั้นๆ

    สำหรับนโยบายด้านการเข้าเมือง (Immigration) นั้น สหรัฐฯ อาจปฏิบัติต่อพลเมืองฮ่องกงที่ถือหนังสือเดินทางเขตปกครองพิเศษฮ่องกงเทียบเท่ากับพลเมืองสัญชาติจีน อาทิ การที่ทางการสหรัฐฯ มีแผนจะยกเลิกวีซ่าของนักวิจัยหรือนักศึกษาสัญชาติจีนที่เคยศึกษาหรือมีความเกี่ยวข้องกับมหาวิทยาลัยของจีนที่มีความสัมพันธ์กับกองทัพจีน ในกรณีนี้ พลเมืองฮ่องกงที่ถือหนังสือเดินทางเขตปกครองพิเศษฮ่องกงที่เข้าข่ายก็จะได้รับผลกระทบไปด้วย

    ส่วนนโยบายสุดท้ายซึ่งได้แก่ มาตรการคว่ำบาตรต่างๆ (Sanction) ต่อบุคคลหรือธุรกิจของฮ่องกงหรือจีนที่มีส่วนร่วมในทางการเมืองของฮ่องกง โดยล่าสุดได้แก่ กฎหมายที่กำหนดบทลงโทษต่อสถาบันการเงินที่ทำธุรกรรมกับเจ้าหน้าที่จีนซึ่งบังคับใช้กฎหมายความมั่นคงในฮ่องกง ซึ่งบทลงโทษอาจครอบคลุมถึงการห้ามผู้บริหารระดับสูงของสถาบันการเงินนั้นๆ เดินทางเข้าสหรัฐฯ หรือการจำกัดธุรกรรมทางการเงินในสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯ[4]

    ในระยะสั้น การที่สหรัฐฯ ยุติการให้สถานะพิเศษต่อฮ่องกงส่งผลต่อการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับฮ่องกงในระดับที่จำกัด ขณะที่มาตรการคว่ำบาตรต่างๆ ที่ออกมาอาจเป็นการตอบโต้ทางการจีนเชิงสัญลักษณ์ อย่างไรก็ดี ในระยะข้างหน้า ยังคงต้องจับตาพัฒนาการของความขัดแย้งระหว่างจีนกับสหรัฐฯ ในประเด็นเรื่องฮ่องกงอย่างใกล้ชิด เพราะอาจส่งผลต่อความเข้มข้นของมาตรการตอบโต้ทางเศรษฐกิจที่เป็นอุปสรรคต่อการดำเนินธุรกิจ รวมถึงมาตรการคว่ำบาตรอื่นๆ ที่จะออกมาหลังจากนี้ซึ่งอาจบั่นทอนสถานะของฮ่องกงในบทบาทการเป็นศูนย์กลางการค้าระหว่างประเทศและศูนย์กลางทางการเงินที่สำคัญของเอเชีย



[1] ภายหลังปรับเปลี่ยนชื่อเป็น Hong Kong Human Rights and Democracy Act ในปี 2562

[2] https://​www.piie.com/blogs/china-economic-watch/trumps-latest-move-hong-kong-bluster

[3] สินค้าในกลุ่มนี้คิดเป็นสัดส่วนถึงราวร้อยละ 88 ของมูลค่าสินค้า Re-export ของฮ่องกงในปี 2562

[4] https://www.bloomberg.com/news/articles/2020-07-14/trump-to-address-china-tensions-in-tuesday-rose-garden-event?srnd=premium-asia



Scan QR Code


QR Code

หมายเหตุ

รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น

Econ Digest