การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ กำลังใกล้เข้ามา ทั่วโลกกำลังจับตานโยบายของผู้ลงสมัครประธานาธิบดีของ 2 พรรค ได้แก่ 1.รองประธานาธิบดี Kamala Harris จากพรรคเดโมแครต และ 2. อดีตประธานาธิบดี Donald Trump จากพรรคริพับลิกัน
• นโยบายด้านการลดก๊าซเรือนกระจก (GHG) ของผู้สมัครแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง โดย นโยบายของ Harris จะยังคงสนับสนุนการลงทุนเพื่อลด GHG และควบคุมการปล่อย GHG ของภาคอุตสาหกรรม ในขณะที่ Trump คาดว่าจะปรับเกณฑ์ Inflation Reduction Act (IRA) และคงนำสหรัฐฯ ออกจาก Paris Agreement อีกครั้ง
• การลงทุนในเทคโนโลยีเพื่อลด GHG อาจชะลอตัวลงหาก Trump ชนะการเลือกตั้งโดยเฉพาะการลงทุนด้านแบตเตอรี่และยานยนต์ไฟฟ้าที่เร่งตัวขึ้นจากมาตรการสนับสนุนจากกฎหมาย IRA
• นโยบายกีดกันการค้ากับประเทศจีนจะรุนแรงขึ้นและจะขยายวงกว้างไปยังสินค้าที่เป็นวัตถุดิบ โดยเฉพาะแร่สำคัญที่ใช้ในเทคโนโลยีเพื่อลด GHG อย่าง Lithium ที่เป็นแร่สำคัญในการผลิตแบตเตอรี่
• ผลกระทบต่อไทยยังคงมีจำกัด เนื่องจากไทยมีการส่งออกสินค้าที่สหรัฐฯ จับตามอง ในสัดส่วนที่น้อย รวมถึงการส่งออกแผงโซล่าเซลล์ที่อยู่ระหว่างการสอบสวนตามมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด อย่างไรก็ดีอุตสาหกรรมยานยนต์อาจได้รับผลกระทบจากการหาตลาดทดแทนสหรัฐฯ และยุโรปที่มีการปรับขึ้นภาษีชั่วคราว
เปรียบเทียบนโยบายด้านภูมิอากาศของผู้สมัครประธานาธิบดีสหรัฐฯ
ผลการเลือกตั้งสหรัฐฯ ที่จะมาถึงจะกำหนดทิศทางการลงทุนเพื่อบรรลุเป้าหมาย Net zero ของสหรัฐฯ ที่ยังไม่แน่นอนตามนโยบายของผู้ลงสมัคร โดยมาตรการสำคัญที่อาจกระทบการลงทุนเพื่อลด GHG ของสหรัฐฯ ได้แก่ การแก้ไขมาตรการอุดหนุนตาม Inflation Reduction Act (IRA) ในขณะที่สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนอาจลุกลามไปยังแร่สำคัญที่จีนเป็นเจ้าของอุปทานในตลาดโลก
กฎหมาย Inflation Reduction Act (IRA)
นโยบายที่เป็นที่พูดถึงของ 2 ผู้ลงสมัครคือ มาตรการ IRA ที่สนับสนุนการลงทุนเพื่อลดการพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิล และลด GHG เช่น การลงทุนแผงโซล่าเซลล์ แบตเตอรี่ ยานยนต์ไฟฟ้า เป็นต้น
โดยนโยบายของ Trump มีแนวโน้มแก้ไขระเบียบการให้เงินสนับสนุนตามกฎหมาย IRA และกฎระเบียบเพื่อควบคุมการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของภาคอุตสาหกรรม ซึ่งอาจทำให้เกิดความเสี่ยงต่อทิศทางการลงทุนเทคโนโลยีลด GHG ในอนาคต ในขณะที่ Harris มุ่งมั่นที่จะสานต่อมาตรการ IRA
การลงทุนด้านสภาพภูมิอากาศในสหรัฐฯ เร่งตัวขึ้นหลังมาตรการ IRA โดยการลงทุนด้านภูมิอากาศในสหรัฐฯ ก่อนที่มาตรการ IRA จะมีผลบังคับใช้ มีอัตราการเติบโตเฉลี่ยไตรมาสละ 7% ขณะที่หลังจากที่มาตรการ IRA มีผลบังคับใช้อัตราการเติบโตเฉลี่ยของการลงทุนเร่งตัวสูงขึ้นเป็น 9% (รูปที่ 1) โดยเป็นการลงทุนที่มีสัดส่วนเพิ่มสูงขึ้นหลังมาตรการ IRA ได้แก่ การผลิตรถยนต์ไฟฟ้าและการผลิตแบตเตอรี่ ที่มีสัดส่วนเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากมาตรการให้เครดิตภาษี
ไฟฟ้าที่ผลิตจากพลังงานหมุนเวียนในสหรัฐเพิ่มสูงขึ้น แต่ไม่ได้เป็นผลมาจาก IRA ทั้งหมด
แนวโน้มการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในสหรัฐมีสัดส่วนเพิ่มสูงขึ้นจาก 14% ในปี 2014 เป็น 26% ในปี 2023 โดยมีแนวโน้มเร่งตัวตั้งแต่มาตรการสนับสนุนการผลิตไฟฟ้าจาก แสงอาทิตย์สมัยประธานาธิบดี Obama (2009 – 2017) อย่างไรก็ดีการผลิตไฟฟ้าส่วนใหญ่ของสหรัฐฯ ยังคงมาจากก๊าซธรรมชาติที่เพิ่มสูงขึ้น (รูปที่ 3) การแก้ไขมาตรการ IRA อาจจะส่งผลต่อการลงทุนรถยนต์ไฟฟ้าและแบตเตอรี่มากกว่าการลงทุนด้านพลังงานหมุนเวียนเนื่องจากการผลิตไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติเป็นที่นิยมมากกว่า
ดังนั้น หาก Trump ชนะการเลือกตั้งที่จะมาถึง การลงทุนในเทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้าและแบตเตอรี่อาจชะลอตัวลงจากการปรับเกณฑ์อุดหนุนของ IRA ขณะที่การลงทุนด้านพลังงานหมุนเวียนอาจไม่ได้รับผลกระทบ เนื่องจากแนวโน้มการลงทุนปัจจุบันที่มุ่งเน้นไปที่โรงไฟฟ้า
ก๊าซธรรมชาติมากกว่า
มาตรการกีดกันการค้าจะขยายวงกว้างไปยังแร่สำคัญที่ใช้ในเทคโนโลยีลดก๊าซเรือนกระจก
ในสมัย Trump เป็นประธานาธิบดี สินค้าที่ขึ้นภาษีในช่วงสงครามการค้ากับจีน เช่น อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร สิ่งทอ เป็นต้น ขณะที่ในปัจจุบันมาตรการกีดกันการค้าได้ขยายวงกว้างไปสู่สินค้าเทคโนโลยีเพื่อลด GHG เช่น ยานยนต์ไฟฟ้า แผงโซล่าเซลล์ แบตเตอรี่ แร่สำคัญต่าง ๆ เป็นต้น (รูปที่ 4)
โดยแนวโน้มนโยบายการค้าของผู้ลงสมัครทั้ง 2 ท่านจะยังคงกีดกันการค้าจากจีนและมุ่งเน้นไปที่เทคโนโลยีลด GHG โดยเฉพาะวัตถุดิบที่เป็นแร่ธาตุสำคัญที่นำมาใช้ในการผลิตแบตเตอรี่ ได้แก่ Graphite Nickel Cobalt และ Lithium
ในอนาคตแร่ Lithium จะเป็นจุดศูนย์กลางสงครามการค้าและสงครามเทคโนโลยีสภาพภูมิอากาศ
แร่ที่เป็นส่วนประกอบสำคัญที่นำไปผลิตแบตเตอรี่คือแร่ Lithium ซึ่งสหรัฐฯ ยังไม่มีการเก็บภาษีแร่ที่ใช้ผลิตอย่าง Lithium oxide และ Lithium carbonate โดยในปี 2023 สหรัฐฯ มีการนำเข้าแร่ Lithium จำนวน 3,400 ตันคิดเป็น 85% ของอุปทานในสหรัฐฯ และมากกว่า 90% นำเข้ามาจากทวีปอเมริกาใต้ (รูปที่ 5 และ 6)
อย่างไรก็ดีจีนกำลังนำพาประเทศตัวเองไปสู่ผู้นำการผลิตแร่สำคัญจากทั่วโลก โดย 90% ของอุปทานแร่ Rare Earth และ Graphite ที่มีส่วนสำคัญในอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์มาจากประเทศจีน รวมถึงแร่ Cobalt และ Lithium ที่มีสัดส่วนอุปทานจากจีนมากกว่า 50% ส่งผลให้แร่สำคัญจากจีนจะเป็นที่จับตามองของสหรัฐฯ (รูปที่ 7) รวมถึงในช่วงที่ผ่านมาหลังสงครามการค้า บริษัทจีนเข้าไปลงทุนซื้อในธุรกิจเหมืองแร่ในอาเจนตินาเป็นจำนวนมาก (รูปที่ 8) อาจทำให้สหรัฐฯ หันมาเพ่งเล็งไปที่บริษัทผลิตแร่ในทวีปอเมริกาใต้เพิ่มเติม
ผลกระทบต่อต่อการส่งออกไทยยังคงมีจำกัด แต่อาจมีผลกระทบทางอ้อมจากสงครามการค้า
เนื่องจาก เมื่อเทียบสัดส่วนการนำเข้าสินค้าของสหรัฐระหว่างจีนและไทยตามประเภทสินค้าที่มีการปรับขึ้นภาษี (Section 301) พบว่า มูลค่านำเข้าจากไทยยังมีสัดส่วนน้อย ยกเว้นสินค้าแผงโซล่าเซลล์ที่กำลังถูกสอบสวนจากมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดของประเทศไทย กัมพูชา เวียดนาม และมาเลเซีย และเริ่มจัดเก็บภาษีนำเข้าชั่วคราวแล้ว (รูปที่ 8)
อย่างไรก็ดีการขึ้นภาษีของสหรัฐฯ อาจทำให้การส่งออกจีนชะลอตัวลง ทำให้ผู้ประกอบการในประเทศต้องหาตลาดทดแทน โดยเฉพาะรถยนต์ EV ที่ทางสหภาพยุโรปที่มีการขึ้นอัตราภาษีชั่วคราวซึ่งเป็นตลาดส่งออกรถยนต์ไฟฟ้าใหญ่ที่สุดของจีน จึงอาจเห็นผู้ประกอบการรถยนต์ไฟฟ้ามาทำการตลาดกับประเทศในเอเชียมากขึ้น (รูปที่ 9) โดยเฉพาะไทยที่มีมูลค่าการนำเข้ามากที่สุดในทวีปเอเชีย ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการรถยนต์ในประเทศ
Scan QR Code
หมายเหตุ
รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น