Display mode (Doesn't show in master page preview)

3 กรกฎาคม 2568

Econ Digest

เวียดนามได้ดีลถูกเก็บภาษี reciprocal 20% ลดจากเดิมที่ 46% คาดหนุน GDP เวียดนามปีนี้โต 6.7%

คะแนนเฉลี่ย
  • เวียดนามบรรลุข้อตกลงให้สหรัฐฯ เก็บภาษี 20% สำหรับสินค้าเวียดนาม และ40% สำหรับสินค้าที่ประเทศอื่นส่งออกผ่านเวียดนาม นอกจากนี้ เวียดนามจะเปิดตลาดให้กับสหรัฐฯ โดยไม่ต้องเสียภาษีนำเข้า อนึ่ง เวียดนามได้ยื่นข้อเรียกร้องให้สหรัฐประกาศยกระดับสถานะเป็น “เศรษฐกิจแบบตลาด : Market Economy” ซึ่งปัจจุบันเวียดนามยังอยู่ในสถานะ “ประเทศที่ระบบเศรษฐกิจไม่ใช่แบบตลาด: Non-Market Economy” เปิดช่องให้สหรัฐฯ สามารถใช้มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุน (AD/CVD) โดยใช้ราคาของประเทศที่มีเศรษฐกิจแบบตลาดเป็นเกณฑ์ในการคำนวนภาษี  
  • สหรัฐฯ จะรู้ได้อย่างไรว่า “สินค้านี้มาจากประเทศอื่น” แล้วแค่ส่งผ่านเวียดนาม? 

-  มีการตรวจสอบแหล่งกำเนิดสินค้า (Country of Origin) โดยทุกการนำเข้าสหรัฐฯ ต้องมีใบรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า (Certificate of Origin) หากสินค้านั้นเพียงแค่ถูกเปลี่ยนบรรจุภัณฑ์หรือประกอบเพียงเล็กน้อยในเวียดนาม สหรัฐฯ อาจไม่ยอมรับว่าเป็นสินค้า “ผลิตในเวียดนาม” โดยใช้หลักเกณฑ์ เช่น (1) มูลค่าเพิ่มในประเทศ ยกตัวอย่างเช่น ต้องมีอย่างน้อย 35-40% ของต้นทุนการผลิตในเวียดนาม หรือ (2) มีการเปลี่ยนพิกัดศุลกากรจนได้พิกัดสินค้าใหม่จึงจะถือว่าเป็นสินค้าของเวียดนามจริง

-  มีการสอบสวนทางการค้า (Trade Enforcement/ Customs Audit) สหรัฐฯ มีหน่วยงานที่สามารถสอบสวนย้อนหลังสินค้าต้องสงสัย หากพบการสวมสิทธิ์ถิ่นกำเนิดสินค้า จะมีบทลงโทษทางภาษีและทางอาญา

  • เวียดนามบรรลุข้อตกลงกับสหรัฐฯ หนุนเศรษฐกิจเวียดนามเติบโต 6.7% ในปีนี้ จากคาดการณ์เดิมที่ 5.3% (รูปที่ 1) โดยตั้งแต่วันที่ 9 ก.ค. เป็นต้นไป เวียดนามจะถูกเก็บภาษี reciprocal ที่ 20% ลดลงจากคาดการณ์เดิมที่ 46% ทั้งนี้ การส่งออกเวียดนามคาดเติบโตที่ 6.7% ในปีนี้ โดยมองว่าการส่งออกเวียดนามจะชะลอตัวอย่างมากในครึ่งหลังของปี เมื่อเทียบกับครึ่งแรกของปี (รูปที่ 2) เพราะการเร่งส่งออกไปยังสหรัฐฯ สิ้นสุดลง พร้อมกับอัตราภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ ที่เพิ่มขึ้นมาที่ 20% 
  • ในระยะยาว คาดเวียดนามจะเกินดุลการค้าน้อยลงจากการเปิดตลาดสินค้าให้กับสหรัฐฯ นอกจากเวียดนามจะยกเว้นภาษีนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ แล้วยังเซ็น MOU ซื้อสินค้ากับสหรัฐฯ ประมาณ 2-3 พันล้านดอลลาร์ฯ ซึ่งจะทำให้การเกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ ลดลง ทั้งนี้ การเกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ เป็นปัจจัยหลักหนุนการเกินดุลการค้าของเวียดนาม (รูปที่ 3)  
  • การบรรลุความตกลงทางการค้ากับสหรัฐฯ ครั้งนี้กลับไม่ใช่ปัจจัยหนุนค่าเงินดอง เพราะดีลนี้ทำให้เวียดนามมีแนวโน้มเกินดุลบัญชีเดินสะพัดลดลงจากการเกินดุลการค้าที่มีแนวโน้มลดลง ค่าเงินดองอ่อนค่าเป็นประวัติการณ์มาที่ระดับ 26,195 ดองต่อดอลลาร์ หลังจากประธานาธิบดีทรัมป์ประกาศบรรลุความตกลงกับเวียดนาม ทั้งนี้ การเกินดุลการค้าเป็นปัจจัยหลักหนุนการเกินดุลบัญชีเดินสะพัด ซึ่งเป็นหนึ่งในปัจจัยหลักหนุนค่าเงินดองในระยะยาว นอกจากนี้ เวียดนามยังเผชิญกระแสเงินทุนไหลออกจากตลาดหุ้นและตลาดตราสารหนี้ตลอดช่วง 2 ปีที่ผ่านมาจากปัญหาของภาคการเงินและอสังหาริมทรัพย์ภายในประเทศ
  • ประเทศไทยเจอโจทย์ยากที่ต้องบรรลุข้อตกลงทางการค้ากับสหรัฐฯ ก่อนเส้นตายวันที่ 8 ก.ค. โดยที่ไทยไม่เสียเปรียบสหรัฐฯ มากเกินไป และต้องได้อัตราภาษีที่ไม่สูงกว่าคู่แข่งในอาเซียน ณ วันที่ 3 ก.ค. เวียดนามจะถูกเรียกเก็บภาษี reciprocal ต่ำกว่าหลายประเทศในอาเซียนรวมทั้งไทย (รูปที่ 3) หากไทยถูกเรียกเก็บภาษีที่ 36% จะเสียเปรียบคู่แข่งอย่างเวียดนาม มาเลเซีย และอินโดนีเซีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งสินค้าในกลุ่ม เครื่องใช้ไฟฟ้า อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และชิ้นส่วนยานยนต์ นอกจากนี้ ความไม่แน่นอนด้านภาษี อาจทำให้ไทยถูกมองว่าเป็น “ฐานการผลิตที่เสี่ยง” สำหรับสินค้าส่งออกไปยังสหรัฐฯ และทำให้ความน่าดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศลดลง แต่หากไทยเปิดตลาดสินค้าทุกอย่างให้กับสหรัฐฯ เพื่อให้ได้ดีล โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การเปิดตลาดสินค้าเกษตร เช่น เนื้อหมู ก็อาจส่งผลกระทบต่อเกษตรและผู้ประกอบการไทย 

Scan QR Code


QR Code

หมายเหตุ

รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น