Display mode (Doesn't show in master page preview)

14 ตุลาคม 2563

Econ Digest

กินเจกรุงเทพฯ... เหงา "โควิด-19" และ "เศรษฐกิจ" ทำคนกินเจลดลง

คะแนนเฉลี่ย
            เทศกาลกินเจปีนี้ตรงกับวันที่ 17-25 ต.ค. 2563 ซึ่งที่ผ่านมา เทศกาลนี้ได้รับการตอบรับทั้งจากผู้บริโภคดั้งเดิม กลุ่มคนไทยเชื้อสายจีนที่กินเจเพื่อลดละการบริโภคเนื้อสัตว์ ขณะเดียวกัน กลุ่มคนรุ่นใหม่ที่หันมากินเจเพื่อสุขภาพมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ภายใต้ภาวะเศรษฐกิจและกำลังซื้อที่ชะลอตัวจากสถานการณ์โควิด-19 จึงเป็นปัจจัยที่กระทบต่อพฤติกรรมการกินเจ และลดทอนบรรยากาศการกินเจที่ไม่คึกคักเมื่อเทียบกับปีก่อนๆ

            จากการสำรวจของศูนย์วิจัยกสิกรไทย พบว่า คนกรุงเทพฯ ที่สนใจเข้าร่วมกินเจในปีนี้ มีสัดส่วนอยู่ที่ 63.0% ของกลุ่มตัวอย่างที่สำรวจ ลดลงเมื่อเทียบกับเทศกาลกินเจปีก่อน ที่มีผู้สนใจเข้าร่วม 66.7% ขณะที่ กลุ่มที่เข้าร่วมกินเจส่วนใหญ่ในปีนี้ จะกินเจไม่ครบทั้ง 9 วัน โดยจะกินเพียงบางมื้อ คิดเป็นสัดส่วน 64.6% ของผู้ที่กินเจทั้งหมด ทั้งนี้ กลุ่มที่กินทุกมื้อปรับงบประมาณลงจาก 105 บาทต่อมื้อในปีที่ผ่านมา เหลือเฉลี่ย 100 บาทต่อมื้อ และสำหรับกลุ่มที่กินเจบางมื้อ ปรับลดลงจาก 100 บาทต่อมื้อ เป็น 92 บาทต่อมื้อ คิดเป็นงบประมาณเฉลี่ยต่อมื้อที่ลดลงประมาณ -5.9%

              สำหรับช่องทางซื้ออาหารเจที่คนกรุงเทพฯ เลือกเป็นลำดับแรกในปีนี้คือ ร้านค้าแผงลอย/ริมทาง/ตลาดสด คิดเป็น 30.1% จากช่องทางทั้งหมด ซึ่งต่างจากปีก่อนที่นิยมซื้ออาหารจากที่ร้านมาทานเป็นลำดับแรก สอดคล้องกับผลสำรวจที่พบว่า ปัจจัยที่คนกินเจจะใช้เลือกช่องทางการกินเจในปีนี้ นอกจากความหลากหลาย และการหาซื้อสะดวก การให้น้ำหนักต่อปัจจัยด้านราคายังมีสูงกว่าปีก่อน ซึ่งร้านค้าแผงลอย/ริมทางหรือในตลาดสด ค่อนข้างตอบโจทย์คนกินเจภายใต้สภาวะการณ์นี้

             จากผลสำรวจพฤติกรรมการเข้าร่วมเทศกาลกินเจดังกล่าว ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จึงประเมินว่าตลอดช่วงเทศกาลกินเจปี 2563 คนกรุงเทพฯ จะใช้จ่ายประมาณ 3,930 ล้านบาท หดตัว 17.4% โดยเป็นการปรับลดลง ทั้งในฝั่งของจำนวนผู้เข้าร่วม รวมถึงค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อคนต่อมื้อที่ลดลง

              ​ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า กลยุทธ์การตลาดสำหรับผู้ประกอบการอาหารเจในปีนี้ นอกจากการบริหารระดับราคาอาหารเจ ให้มีความแตกต่างกับอาหารทั่วไปไม่มาก รวมถึงไม่แตกต่างกับราคาของปีก่อนโดยเปรียบเทียบ เพื่อให้สอดคล้องกับเศรษฐกิจและกำลังซื้อ ขณะเดียวกัน ควรปรับกลยุทธ์การตลาด ให้สอดคล้องกับกลุ่มคนกินเจดั้งเดิมและกลุ่มคนรุ่นใหม่ ซึ่งมีพฤติกรรมการกินเจที่แตกต่างกัน เพื่อเข้าถึงความต้องการผู้บริโภคกลุ่มต่างๆ ได้มากขึ้น


Scan QR Code


QR Code

หมายเหตุ

รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น

Econ Digest