Display mode (Doesn't show in master page preview)

5 กรกฎาคม 2565

Econ Digest

เยนร่วงหนัก อ่อนค่าสุดในรอบกว่า 20 ปี กระทบส่งออกไทยไปญี่ปุ่นในภาพรวมไม่มากนัก

คะแนนเฉลี่ย

​เงินเยนอ่อนค่าลงค่อนข้างเร็วจนล่าสุดอยู่ที่ระดับ 134.19 ดอลลาร์สหรัฐฯ (10 มิ.ย. 65) อ่อนค่าสุดในรอบกว่า 20 ปี  และหากนับจากต้นปีจนถึงปัจจุบัน เงินเยนอ่อนค่าเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐฯแล้วกว่า 16.5% อันเป็นผลจากเศรษฐกิจญี่ปุ่นที่เผชิญแรงกดดันจากราคาสินค้าและค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้นจากวิกฤตรัสเซีย-ยูเครนซึ่งซ้ำเติมวิกฤติโควิด กอปรกับผลจากเงินดอลลาร์ฯที่แข็งค่าขึ้นท่ามกลางการคาดการณ์ว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ คงต้องดำเนินนโยบายแข็งกร้าวเพื่อดูแลเสถียรภาพด้านเงินเฟ้อ ขณะที่ นักวิเคราะห์ในตลาดการเงินมองว่า เงินเยนจะยังผันผวนอ่อนค่าและหากหลุดแนวรับสำคัญที่ 135 ดอลลาร์สหรัฐฯ ก็มีความเป็นไปได้ที่จะอ่อนค่าไปได้ถึง 140 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือแม้กระทั่ง 150 ดอลลาร์สหรัฐฯ  


ทั้งนี้ เงินเยนไม่เพียงอ่อนค่าเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐฯ เท่านั้น แต่ยังอ่อนค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินอื่นรวมถึงค่าเงินบาทด้วย และเนื่องจากญี่ปุ่นเป็นประเทศคู่ค้าอันดับต้น ๆ ที่สำคัญของไทย ดังนั้น จึงอาจส่งผลกระทบต่อการค้าโดยเฉพาะการส่งออกของไทยไปญี่ปุ่น อย่างไรก็ดีในเบื้องต้น หากพิจารณาอัตราการอ่อนค่าของเงินเยนเมื่อเทียบกับหลายสกุลเงินแล้ว ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า ผลต่อการส่งออกของไทยไปญี่ปุ่นในภาพรวมคงจะยังมีไม่มากนัก เนื่องจากอัตราการอ่อนค่าของเงินเยนเมื่อเทียบกับเงินบาทยังอยู่ในระดับกลาง ๆ เมื่อเทียบกับสกุลเงินอื่น และในช่วงข้างหน้าน่าจะยังไม่เปลี่ยนแปลงเท่าใดนัก


สำหรับผลกระทบต่อกลุ่มสินค้าส่งออกหลักที่ไทยพึ่งพาตลาดญี่ปุ่นในสัดส่วนสูง ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า กลุ่มสินค้าที่ได้รับผลกระทบค่อนข้างมาก คือ สินค้าที่จำเป็นต่อการดำรงชีพน้อย อาทิ เฟอร์นิเจอร์ ที่นอน โคมไฟ เบาะ เก้าอี้ ของเล่น อุปกรณ์กีฬา และสิ่งทอเครื่องนุ่งห่ม กลุ่มสินค้าที่ได้รับผลกระทบรองลงมา คือ สินค้าเกษตร (ยางพารา แป้งมันสำปะหลัง) อาหาร (เนื้อสัตว์ อาหารสัตว์) น้ำมันหอมระเหย เครื่องหอม และเครื่องสำอาง และกลุ่มสินค้าที่ได้รับผลกระทบจำกัดกว่ากลุ่มอื่น คือ สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า และรถยนต์


สำหรับด้านการนำเข้าสินค้าทุน สินค้าวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลางของไทยจากญี่ปุ่น อาจเป็นจังหวะที่ดีสำหรับผู้ประกอบการไทยจะขยายกำลังการผลิตหรือเสริมประสิทธิภาพการดำเนินธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นในหมวดเหล็ก เหล็กกล้า ผลิตภัณฑ์เหล็ก เคมีภัณฑ์ และพลาสติก เป็นต้น ที่ไทยพึ่งพาการนำเข้าจากญี่ปุ่นในสัดส่วนที่ค่อนข้างสูง นอกจากนี้ ธุรกิจเกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยวของคนไทยไปญี่ปุ่นก็คงจะเริ่มเห็นการฟื้นตัวดีขึ้นในช่วงที่ญี่ปุ่นทยอยเปิดประเทศ

Scan QR Code


QR Code

หมายเหตุ

รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น

Econ Digest