Display mode (Doesn't show in master page preview)

26 เมษายน 2564

Econ Digest

ระหว่างรอปลูก…กัญชา มาลองปลูก...กัญชง

คะแนนเฉลี่ย

ตั้งแต่ 15 ธ.ค. 2563 ที่ภาครัฐได้ปลดล็อกกัญชาและกัญชงจากการเป็นยาเสพติดในหลายส่วน (ยกเว้นช่อดอก และเมล็ดกัญชา) ได้จุดกระแสความสนใจให้เกิดขึ้นเป็นวงกว้าง ทั้งฝั่งผู้บริโภคและผู้ผลิต นำมาสู่คำถามว่ากัญชาและกัญชง จะสามารถเป็นพืชเศรษฐกิจใหม่ได้หรือไม่ 

กัญชงน่าจะมีศักยภาพในการเป็นพืชเศรษฐกิจหรือ Cash Crop ที่เปิดกว้างสำหรับเกษตรกรและผู้ลงทุนได้มากกว่ากัญชา เนื่องจากเงื่อนไขการปลูก การสกัด การพัฒนาผลิตภัณฑ์ เพื่อจำหน่ายกัญชายังคงมุ่งเน้นไปเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์เป็นหลัก จากการที่กัญชามีสาร THC ที่มีผลต่อระบบประสาท ขณะที่การปลูกและการใช้ประโยชน์จากกัญชงทั้งเพื่อสารสกัด CBD น้ำมันเมล็ดกัญชง และเส้นใย (Fiber) จะมีความผ่อนคลายมากกว่า คาดว่า ผลผลิตกัญชงต้นน้ำของไทยรอบแรกหลังการปลดล็อก น่าจะทยอยออกสู่ตลาดได้ในช่วงไตรมาสที่ 4 ของปี 2564

ความต้องการสารสกัด CBD และน้ำมันเมล็ดกัญชง เพื่อนำไปใช้ในอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าเพิ่มสูง ได้แก่ อุตสาหกรรมยา เครื่องสำอาง อาหารและเครื่องดื่ม อาหารเสริม อาหารสัตว์ รวมถึงเส้นใย สำหรับเป็นวัตถุดิบในสินค้านวัตกรรม เช่น ชิ้นส่วนรถยนต์ พลาสติกชีวภาพ เป็นต้น มีแนวโน้มเติบโตทั้งในประเทศและตลาดโลก จะเป็นแรงผลักดันสำคัญที่ทำให้เกิดการลงทุนเพาะปลูกกัญชงเพิ่มมากขึ้น มีการประเมินว่า ตลาดกัญชงโลกในปี 2563 มีมูลค่าราว 4,748 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จะเร่งตัวขึ้นไปแตะ 18,608 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2570 หรือเติบโตเฉลี่ย (CAGR) ร้อยละ 22.4 ต่อปี  

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินเบื้องต้นว่า ในปี 2564 รายได้จากการปลูกกัญชงแบบระบบเปิด (Outdoor) อาจจะอยู่ที่ราว 0.2-1.0 ล้านบาทต่อไร่ เนื่องจากราคารับซื้อที่สูง เพราะผลผลิตที่ยังมีจำกัด ขณะที่ต้นทุนการปลูกอาจ ต้องใช้เงินลงทุนถึง 0.3-1.5 ล้านบาทต่อไร่ ทำให้เป็นไปได้ว่า ผู้ลงทุนปลูกกัญชงต้องใช้ระยะเวลาคืนทุนประมาณ 4-5 ปี 

ในระยะถัดไป รายได้ผู้ลงทุนปลูกกัญชง อาจให้ภาพที่ทยอยปรับตัวลดลง จากผลผลิตที่เพิ่มขึ้นซึ่งจะกดดันราคา รวมทั้งความท้าทายจากการแข่งขัน โดยเฉพาะกับวัตถุดิบหรือสารสกัดกัญชงจากต่างประเทศ เมื่อมีการเปิดเสรีให้นำเข้าได้ในอนาคต ดังนั้น ผู้ที่จะลงทุนปลูกกัญชงจึงควรคำนึงถึงประเด็นความเสี่ยงต่างๆ ให้รอบคอบ​

Scan QR Code


QR Code

หมายเหตุ

รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น

Econ Digest