Display mode (Doesn't show in master page preview)

29 มีนาคม 2564

Econ Digest

หลังเสียแชมป์ส่งออกข้าวในตลาดโลก ชูโรงข้าวหอมมะลิ เจาะตลาดส่งออกกลุ่มพรีเมียม

คะแนนเฉลี่ย

​​

ไทยส่งออกข้าวในปี 2563 ได้ที่ 5.7 ล้านตัน ลดลง 24.5% ต่ำสุดในรอบ 20 ปี อยู่ที่ 3 ของโลกรองจาก อินเดีย และเวียดนาม โดยปัญหาหลักที่รุมเร้าคือ พันธุ์ข้าวไทยที่ไม่หลากหลาย ไม่ตอบความต้องการของตลาด ค่าเงินบาทแข็ง ภัยแล้ง และยังถูกซ้ำเติมจากการระบาดของโควิด-19 และการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์

ในปี 2564 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า การส่งออกข้าวอาจยังประคองตัวได้ที่ 5.8-6.0 ล้านตัน หรือเพิ่มขึ้น 1.3-4.8% (YoY) แม้จะได้รับแรงหนุนจากปัจจัยบวก คือ ปริมาณนํ้าฝนที่มากขึ้นจากการเข้าสู่วงรอบของลานีญา ทำให้มีปริมาณผลผลิตข้าวเพิ่มขึ้น ผนวกกับเกษตรกรมีแรงจูงใจในการปลูกข้าวต่อไปจากมาตรการช่วยเหลือของภาครัฐ และปัจจัยลบในปีก่อนให้ภาพที่ดีขึ้นบ้างแล้วก็ตาม แต่ไทยน่าจะไม่สามารถกลับไปเป็นแชมป์ส่งออกข้าวโลกได้อีก ดังเช่นในอดีต ที่ไทยเคยส่งออกข้าวได้เฉลี่ย 9 ล้านตันต่อปี

ด้วยการแข่งขันในตลาดโลกที่รุนแรง รวมถึงราคาข้าวไทยทีสูงกว่าคู่แข่ง ดังนั้น ไทยควรมุ่งไปที่การผลิตข้าวที่เน้นการแข่งขันในเชิงมูลค่ามากกว่าเชิงปริมาณ ทำให้ความหวังของการส่งออกข้าวไทยในระยะข้างหน้า 
คงอยู่ที่การให้ความสำคัญกับตัวชูโรงอย่างข้าวหอมมะลิ ที่ควรเร่งเพิ่มการผลิตเพื่อใช้ในการส่งออกและบริโภคในประเทศ ขณะที่ในด้านราคาก็น่าจะอยู่ในเกณฑ์ดีกว่าข้าวประเภทอื่น จึงนับว่าข้าวหอมมะลิ น่าจะมีโอกาสและศักยภาพมากที่สุดในพันธุ์ข้าวที่ไทยมีในขณะนี้

ข้าวหอมมะลิ ได้รับรางวัลชนะเลิศข้าวที่ดีที่สุดในโลกประจำปี 2563 หรือ World’s Best Rice Award 2020 โดยตลาดสหรัฐอเมริกามีสัดส่วนที่มากถึง 41% ของปริมาณการส่งออกข้าวหอมมะลิทั้งหมด และที่มีอัตราการเติบโตเฉลี่ย (CAGR) ถึง 5.7% ต่อปี คาดว่าปี 2564 ปริมาณการส่งออกข้าวหอมมะลิของไทยไปสหรัฐอเมริกาอาจอยู่ที่ 0.54-0.56 ล้านตัน หรือเพิ่มขึ้น 10.7-14.8% (YoY)

จากศักยภาพของข้าวหอมมะลิไทยที่แข็งแกร่ง จึงควรมุ่งเน้นไปที่การผลิตข้าวหอมมะลิให้มากขึ้น ด้วยการเพิ่มผลผลิตต่อไร่ เพราะการเพิ่มพื้นที่ปลูกข้าวของไทยคงทำได้ยาก โดยเฉพาะแหล่งปลูกข้าวหอมมะลิในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ขณะเดียวกัน ผู้ส่งออกข้าวไทยยังต้องรักษามาตรฐานส่งออกอย่างเคร่งครัด อีกทั้งควบคุมการผลิตและการติดฉลากสินค้าอินทรีย์ อันจะเป็นการช่วยยกระดับคุณภาพข้าวหอมมะลิไทยให้มีความพรีเมียมมากยิ่งขึ้น​

Scan QR Code


QR Code

หมายเหตุ

รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น

Econ Digest