Display mode (Doesn't show in master page preview)

2 พฤศจิกายน 2565

Econ Digest

198 ประเทศจับมือ...แก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมสู่เป้าหมาย Net Zero

คะแนนเฉลี่ย

    ​ในช่วงสัปดาห์หน้า จะมีการประชุมระดับผู้นำระหว่างประเทศด้านสิ่งแวดล้อมที่สำคัญขึ้น ได้แก่ การประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 27 หรือ COP27 ซึ่งจะจัดขึ้นในระหว่างวันที่ 6 – 18 พฤศจิกายน 2565 ณ เมือง Sharm El-Sheikh สาธารณรัฐอาหรับอียิปต์1

     การประชุมในครั้งนี้ จะมีการติดตามความคืบหน้าการดำเนินการของประเทศภาคี 198 ประเทศ ในการจัดการกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ซึ่งหลายประเทศได้ประกาศตั้งเป้าหมายไว้ในการประชุม COP26 เมื่อปีที่แล้ว ทั้งในเรื่องของการลดการใช้พลังงานจากแหล่งฟอสซิล โดยเฉพาะถ่านหิน การลดการปล่อยก๊าซมีเทน และการลดการตัดไม้ทำลายป่า โดยการประชุม COP27 นี้ จะมีการเจรจาจัดตั้ง Forests and Climate Leaders’ Partnership (FCLP) เพื่อให้ประเทศภาคีร่วมมือกันมากขึ้นในการรักษาป่าไม้ และนำไปสู่เป้าหมาย Net Zero ภายในปี 2050 รักษาอุณหภูมิของโลกไม่ให้เกิน 1.5 องศาเซลเซียส เมื่อเทียบกับช่วงปฏิวัติอุตสาหกรรม (1850-1900) รวมถึงการเจรจาในการให้ความช่วยเหลือกับประเทศที่ได้รับผลกระทบและสูญเสียจากภัยธรรมชาติเพิ่มเติม อย่างไรก็ดี ประเด็นวิกฤติพลังงานและผลกระทบจากสงครามรัสเซียยูเครนในขณะนี้ได้ส่งผลกระทบต่อหลายประเทศเป็นวงกว้าง และอาจทำให้การดำเนินการในการลดการใช้พลังงานจากแหล่งฟอสซิลอาจจะไม่เป็นไปตามแผนที่วางไว้

     นอกจากนี้ การประชุม COP27 ยังจะเน้นการติดตามถึงการให้ความช่วยเหลือทางการเงินจากประเทศที่พัฒนาแล้วที่เคยมีการให้คำมั่นสัญญาว่าจะให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ประเทศกำลังพัฒนาหรือประเทศด้อยพัฒนาผ่าน Climate Finance เป็นจำนวน 1 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ ต่อปี นับตั้งแต่ปี 2020 ซึ่งในช่วง 2 ปีที่ผ่านมานี้ยังไม่สามารถดำเนินการได้ถึงตามเป้าหมายที่วางไว้2  โดยการประชุมในปีนี้ คาดว่าจะมีการหารือเพิ่มเติมเพื่อเร่งให้ประเทศร่ำรวยและประเทศที่พัฒนาแล้ว เร่งดำเนินการตามคำมั่นสัญญา รวมถึงการหารือถึงผลกระทบต่อ Climate Finance จากปัญหาทางเศรษฐกิจและวิกฤติทางการเงิน ภาระหนี้ และอัตราดอกเบี้ยที่มีการปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นในปัจจุบันด้วย

    การเจรจาระหว่างประเทศในเรื่องกลไกความร่วมมือในการพัฒนาตลาดคาร์บอนเครดิต ภายใต้ Article 6 ของความตกลงปารีส (Paris Agreement) ถือเป็นอีกหนึ่งหัวข้อสำคัญที่ต้องติดตามในการประชุม COP27 ว่าจะมีความคืบหน้ามากน้อยเพียงใด โดยเฉพาะในเรื่องของหลักเกณฑ์และข้อกำหนดในการซื้อขายคาร์บอนเครดิตระหว่างประเทศ ซึ่งจะต้องมีการจัดทำรายละเอียดต่าง ๆ อาทิ การกำหนดกลไกและวิธีการซื้อขายคาร์บอนเครดิตระหว่างประเทศ คุณสมบัติของโครงการหรือกิจกรรมที่จะได้รับคาร์บอนเครดิต การจัดทำบัญชีคาร์บอนเครดิตสำหรับโอนคาร์บอนเครดิตระหว่างประเทศ การป้องกันผลกระทบในชุมชนจากโครงการคาร์บอนเครดิต และการจัดสรรเงินส่วนหนึ่งจากการซื้อขายคาร์บอนเครดิตเข้าสู่กองทุน Global Adaptation Fund เป็นต้น เนื่องจากกลไกดังกล่าว จะมีความสำคัญในการผลักดันให้ประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกหันมาสนใจลงทุนในโครงการเพื่อลดก๊าซเรือนกระจกเพิ่มมากขึ้น

     ทั้งนี้ ประเทศไทยในฐานะเป็นประเทศภาคี จะมีการเสนอปรับปรุงยุทธศาสตร์ระยะยาวเพื่อยกระดับเป้าหมายของไทยในการประชุม COP273  โดยจะมีการปรับเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงสุด จากเดิมในปี 2030 มาเป็นปี 2025 เร็วขึ้น 5 ปี และยกระดับเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกจากร้อยละ 20-25 จากกรณีปกติ เป็นร้อยละ 30-40 จากกรณีปกติ ภายในปี 2030 เพื่อให้สามารถดำเนินการตามเป้าหมายการเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ในปี 2050 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ (Net Zero) ในปี 2065 ตามที่นายกรัฐมนตรีได้ประกาศเจตนารมณ์ไว้ในการประชุม COP26



 


Click
 ชมคลิป การประชุม COP27 กับเป้าหมายเร่งลดก๊าซเรือนกระจกของไทย...สู่เป้าหมาย Net Zero




---------------------------------------------------------------

  1https://cop27.eg

 2ข้อมูลล่าสุดจาก OECD (29/07/2022) พบว่า Climate Finance ที่ให้แก่ประเทศกำลังพัฒนาในปี 2020 อยู่ที่ 83.3 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ  (https://www.oecd.org/environment/statement-by-the-oecd-secretary-general-on-climate-finance-trends-to-2020.htm)

 3https://www.thaigov.go.th/news/contents/details/60623



Scan QR Code


QR Code

หมายเหตุ

รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น

Econ Digest

ESG