Display mode (Doesn't show in master page preview)

22 มีนาคม 2565

Econ Digest

Cold-Chain Logistics ขนส่งเย็นถึงมือผู้บริโภค ฉายแววรุ่ง...จากยอดสั่งออนไลน์ อาหารสด & ผักผลไม้

คะแนนเฉลี่ย



ธุรกิจขนส่งสินค้าแบบควบคุมอุณหภูมิ หรือ Cold-chain Logistics ซึ่งเดิมเน้นเจาะกลุ่ม B2B (Business to Business) มีการเติบโตอย่างก้าวกระโดดในกลุ่ม B2C (Business to Consumer) ในช่วงโควิด 19 โดยได้รับอานิสงส์จากการขยายตัวอย่างต่อเนื่องของธุรกิจ E-commerce ที่ทำให้ผู้บริโภคมีพฤติกรรมการซื้ออาหารสดและอาหารแช่เย็นแช่แข็งผ่านช่องทางออนไลน์เพิ่มขึ้น ในขณะที่ธุรกิจร้านอาหารก็มีการปรับตัวโดยการขยายสู่ช่องทางออนไลน์และการจัดส่งไปยังพื้นที่ต่างจังหวัดมากขึ้นเช่นกัน  ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่าในปี 65 ธุรกิจขนส่งสินค้าแบบควบคุมอุณหภูมิที่เน้นเจาะกลุ่ม B2C จะมีมูลค่าราว 2.9-3.0 พันล้านบาท หรือขยายตัวในกรอบ 15-20% (YoY) ชะลอจากปี 64 ที่คาดว่าจะขยายตัวราว 40-45% ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากฐานสูงและปัจจัยเร่งชั่วคราวจากการสิ้นสุดล็อกดาวน์ อย่างไรก็ตาม คาดว่าความต้องการของผู้บริโภคจะยังคงเพิ่มขึ้น เนื่องจากเกิดการรับรู้ในวงกว้างและมีความเคยชินมากขึ้น ซึ่งจากผลการสำรวจของศูนย์วิจัยกสิกรไทยพบว่าผู้บริโภคมีแนวโน้มที่จะเลือกซื้อสินค้ากลุ่มอาหารสด อาหารปรุงสำเร็จ อาหารแช่เย็นแช่แข็ง ผ่านช่องทางออนไลน์เพิ่มขึ้นเป็นอันดับที่สอง รองจากสินค้ากลุ่มแฟชั่น

        ในระยะข้างหน้า ธุรกิจ Cold-chain Logistics แบบ B2C ยังต้องเผชิญกับความท้าทายต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ความเสี่ยงจากการแพร่ระบาดของโควิด 19 ระลอกใหม่ที่อาจทำให้การขนส่งสินค้าในบางพื้นที่ต้องหยุดชะงัก และยังมีแรงกดดันจากราคาน้ำมันที่ผันผวนและปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมไปถึงการแข่งขันที่มีแนวโน้มรุนแรงทั้งในด้านของจำนวนผู้เล่นที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นและการแข่งขันด้านราคาค่าบริการ จากการรุกตลาดของผู้ประกอบการขนส่งสินค้ารายใหญ่ ดังนั้น ผู้ประกอบการจึงต้องติดตามประเด็นต่างๆ อย่างใกล้ชิด เพื่อให้สามารถปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ได้อย่างทันท่วงที ซึ่งศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า ผู้ประกอบการควรมุ่งพัฒนาและเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการ เช่น การลดระยะเวลาในการจัดส่งสินค้า การลดความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการขนส่ง นอกจากนี้ ควรเร่งสร้างเครือข่ายผ่านการทำสัญญาระยะยาวกับผู้ประกอบการต่างๆ ที่ใช้บริการขนส่งแบบควบคุมอุณหภูมิ เช่น ธุรกิจร้านอาหาร เพื่อให้สามารถบริหารจัดการต้นทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงการพัฒนาและเลือกใช้เทคโนโลยีในการขนส่งที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม หรือ Green Logistics ให้มากขึ้น

Scan QR Code


QR Code

หมายเหตุ

รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น

Econ Digest