Display mode (Doesn't show in master page preview)

30 พฤศจิกายน 2563

Econ Digest

ประกันภัยพืชผลที่อิงดัชนีสภาวะอากาศ ใช้เทคโนโลยีทันสมัย สร้างเกณฑ์จ่ายสินไหมที่โปร่งใส โดยไม่ต้องสำรวจความเสียหายจริง

คะแนนเฉลี่ย

​​             ระบบประกันภัยพืชผลถือเป็นหนี่งในเครื่องมือสำคัญที่ช่วยหนุนความยั่งยืนของภาคการเกษตรในหลายๆ ประเทศ โดยเกือบทุกประเทศที่ประสบความสำเร็จในการพัฒนาภาคการเกษตรล้วนแล้วแต่มีระบบประกันภัยพืชผลที่เข้าถึงได้ในวงกว้างและมีระดับความคุ้มครองที่เพียงพอต่อการครอบคลุมความเสียหายจากเหตุการณ์ภัยธรรมชาติที่รุนแรง ทั้งนี้ รูปแบบของประกันภัยพืชผลการเกษตรดั้งเดิมนั้นเผชิญกับปัญหาต้นทุนการดำเนินงานที่สูง จากรูปแบบการประกันภันพืชผลแบบดังเดิมที่ต้องมีกระบวนการในการสำรวจความเสียหายจริง ที่ต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญในการประเมิน ทำให้ประกันแบบดั้งเดิมสนใจเฉพาะพืชเศรษฐกิจที่มีขนาดการปลูกรวมในระดับล้านไร่ อย่างไรก็ดี ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีดาวเทียมเพื่อการเกษตร ตลอดจน เครื่องมือวัดปริมาณน้ำฝน เป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญในการช่วยให้เกิดผลิตภัณฑ์ประกันโดยใช้ดัชนีอิงสภาวะอากาศสำหรับเกษตรกรรายย่อยครอบคลุมพืชเศรษฐกิจที่หลากหลาย ทั้งนี้ การสร้างดัชนีอ้างอิงสภาวะอากาศที่มีความสัมพันธ์สูงต่อระดับการเจริญเติบโต ตลอดจนความเสียหายของพืช มาสร้างเป็นสัญญาประกันภัยที่บริษัทประกันและผู้ซื้อกรมธรรม์มีการตกลงล่วงหน้าก่อนฤดูการเพาะปลูก ทำให้สัญญาดังกล่าวขจัดปัญหา Moral hazard ไปได้ นอกจากนี้ รูปแบบของการจ่ายเงินประกันที่ดัชนีอ้างอิงสภาวะอากาศ เช่นการจ่ายสินไหมทดแทนตามปริมาณน้ำฝนในเกณฑ์ที่ได้ตกลงไว้ ไม่มีความจำเป็นที่ต้องสำรวจความเสียหายจริง ซึ่งเป็นหนึ่งในต้นทุนดำเนินงานหลักของบริษัทประกัน ซึ่งการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวส่งผลให้บริษัทประกันมีจุดคุ้มทุนในการดำเนินธุรกิจที่ลดลงไปมาก อันเป็นแรงจูงใจให้เกิดอุปทานของผลิตภัณฑ์ประกันสำหรับเกษตรกรรายย่อยที่มีระดับเบี้ยประกันจูงใจต่อการตัดสินใจของเกษตรกรรายย่อย

                การประกันภัยพืชผลทางการเกษตรโดยใช้ดัชนีอ้างอิงสภาวะอากาศช่วยให้บริษัทประกันมีความคุ้มค่าในทางธุรกิจในการออกผลิตภัณฑ์ประกันภัยสำหรับเกษตรกรรายย่อยที่ไม่ต้องพี่งเงินสนับสนุนจากภาครัฐ ขณะที่โครงสร้างพื้นฐานของเทคโนโลยีสามารถขยายไปยังพืชผลชนิดอื่นๆ ได้โดยง่าย ทั้งนี้ การใช้เทคโนโลยีและระบบอัตโนมัติลดต้นทุน การขจัดปัญหา Moral hazard ทำให้บริษัทประกันมีจุดคุ้มทุนในการออกกรมธรรม์ประกันภัยพืชผลที่ต่ำและสามารถออกผลิตภัณฑ์ที่มีความเป็นไปได้ในทางธุรกิจโดยไม่ต้องพึ่งพิงการอุดหนุนเบี้ยประกันจากรัฐ ซึ่งในประเทศไทยได้มีการนำรูปแบบการประกันภัยโดยใช้ดัชนีฝนแล้งโดยใช้ดาวเทียมสำหรับเกษตรกรรายย่อย ซึ่งเริ่มต้นโดยมีพื้นที่ทำประกันประมาณ 1 แสนไร่ในจังหวัดเชียงใหม่ ในปี 2562 และมีการขยายพื้นที่เพิ่มเติมโดยครอบคลุมพื้นที่ปลูกลำไยถึงร้อยละ 69 ในปี 2563 โดยหากโครงการดังกล่าวประสบความสำเร็จจะเป็นจุดเริ่มต้นให้บริษัทประกันภัยมีการพิจารณาขยายขอบเขตการประกันภัยพืชผลไปยังพืชเศรษฐกิจอื่นๆ ต่อไป ตลอดจน การเพิ่มเพิ่มประเภทภัยพิบัติ อาทิ อุทกภัย เนื่องจากบริษัทประกันสามารถใช้เทคโนโลยีที่มีอยู่แล้วมาปรับใช้กับการออกแบบสัญญาประกันภัยที่มีความเหมาะสมกับความเสียหายของพืช นอกจากนี้ ในระยะข้างหน้าเทคโนโลยีและข้อมูลจากโครงการประกันภัยพืชผลดังกล่าวยังสามารถมาพัฒนาสร้างผลิตภัณฑ์ประกันภัยที่ครอบคลุมความเสี่ยงที่เกษตรกรเผชิญได้หลากหลายขึ้น

            เกษตรกรที่อยู่ในช่วงขยายหรือปรับเปลี่ยนพันธุ์พืชที่เพาะปลูกและเกษตรกรที่มีการกู้ยืมเงินเพื่อเพาะปลูกพืช น่าจะเป็นกลุ่มที่ได้รับประโยชน์สูงสุดจากการเข้าถึงเครื่องมือประกันภัยพืชผลดังกล่าว เนื่องจากเกษตรจะได้รับเงินชดเชยซึ่งเพียงพอต่อการจัดหาเมล็ดพันธุ์สำหรับการปลูกพืชทดแทน ขณะที่การจ่ายเงินประกันสามารถทำได้รวดเร็ว ช่วยบรรเทาผลกระทบสำหรับการดำรงชีวิตในช่วงที่รอฤดูการผลิตใหม่หรือเงินช่วยเหลือจากทางการ ซึ่งปัจจัยดังกล่าวจะช่วยเพิ่มศักยภาพในการฟื้นตัวของเกษตรกรตลอดจนลดผลกระทบจากปัญหาหนี้ที่เกษตรกรอาจจำเป็นต้องกู้ยืมนอกระบบไปได้ส่วนหนึ่ง ทั้งนี้ รูปแบบการประกันภัยพืชผลทางการเกษตรโดยใช้ดัชนีอ้างอิงสภาวะอากาศสามารถใช้ได้กับพืชไร่และพืชสวนที่มีวงจรในการให้ผลผลิตที่เสี่ยงต่อภาวะฝนแล้งในช่วงเดือน มี.ค.- เม.ย. และฝนทิ้งช่วงในเดือน มิ.ย.- ก.ค. อาทิ ข้าว ข้าวโพด อ้อย ลำไย ลองกอง ทุเรียน เป็นต้น

               โดยสรุปแล้ว การผสานเทคโนโลยีเพื่อเพิ่มการเข้าถึงเครื่องมือการประกันภัยพืชผลจะช่วยสร้างประโยชน์ต่อเกษตรกรรายย่อยหลายด้าน การเข้าถึงเครื่องมือประกันภัยพืชผลทางการเกษตรจะช่วยเสริมภูมิคุ้มกันต่อฐานะการเงินของเกษตรกรรายย่อยจากปัจจัยเสี่ยงด้านสภาพแวดล้อมโดยเฉพาะภัยแล้งที่มีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้นในอนาคต โดยเฉพาะเกษตรกรที่พึ่งพากู้เงินเพื่อใช้ในการเพาะปลูก ซึ่งทำให้มีความเสียงต่อฐานะการเงินอย่างมากหากพืชผลที่เพาะปลูกประสบความเสียหายจากภัยแล้ง ดังนั้นการได้รับเงินชดเชยจากการทำประกันอย่างรวดเร็วจากการใช้เทคโนโลยีในการสร้างเกณฑ์การจ่ายสินไหมที่โปร่งใสและไม่ต้องมีการสำรวจความเสียหายจริง จะช่วยบรรเทาผลกระทบจากการเร่งขึ้นของหนี้ครัวเรือนไปได้ส่วนหนึ่งและเพิ่มศักยภาพในการฟื้นตัวของเกษตร นอกจากนี้ การเข้าถึงเครื่องมือประกันภัยพืชผลอาจช่วยให้เกษตรกรมีโอกาสเข้าถึงสินเชื่อการเกษตรโดยเฉพาะสินเชื่อในระบบมากขึ้น เนื่องจากความเสี่ยงจากการเพาะปลูกบางส่วนถูกถ่ายโอนไปยังภาคประกัน โดยปัจจัยดังกล่าวจะส่งผลดีต่อภาระการเงินของเกษตรกรในระยะยาว ขณะที่ในอนาคตการทำประกันภัยการเกษตรโดยอาศัยดัชนีสภาวะอากาศจะช่วยเร่งการพัฒนาฐานข้อมูลในภาคการเกษตรอันช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการนโยบายภาคการเกษตร ตลอดจนการออกมาตรช่วยเหลือเกษตรกรให้ทำได้อย่างตรงจุดและโปร่งใส



[1] ประกันภัยที่มีรูปแบบชดใช้ค่าสินไหมทดแทน (Indemnity)

[2] จากการที่เกษตรปล่อยให้พืชที่ปลูกเสียหายเพื่อรับเงินชดเชยจากบริษัทประกัน







                                                                                                                                                                                   ขอบคุณภาพจาก  Shutterstock.com


Scan QR Code


QR Code

หมายเหตุ

รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น

Econ Digest