สรุปความเคลื่อนไหวค่าเงินบาท
- เงินบาทแข็งค่าหลุดแนว 37.00 บาทต่อดอลลาร์ฯ หลังผลการประชุมเฟด และสัญญาณการเข้าแทรกแซงสกัดการอ่อนค่าของเงินเยนจากทางการญี่ปุ่น ทั้งนี้เงินบาทอ่อนค่าลงในช่วงต้นสัปดาห์สอดคล้องกับสกุลเงินส่วนใหญ่ในเอเชีย นำโดย เงินเยนซึ่งแตะระดับอ่อนค่าสุดในรอบ 34 ปี ที่ 160.17 เยนต่อดอลลาร์ฯ ท่ามกลางแรงกดดันต่อเนื่องหลังการประชุม BOJ รอบที่ผ่านมา อย่างไรก็ดีเงินบาททยอยฟื้นตัวแข็งค่ากลับมาตามทิศทางเงินเยนที่พลิกแข็งค่าขึ้นอย่างมาก หลังมีข้อมูลอย่างเป็นทางการเปิดเผยออกมาว่า ทางการญี่ปุ่นได้เข้าแทรกแซงตลาดในสัปดาห์นี้เพื่อพยุงค่าเงินเยนที่อ่อนค่าลงอย่างรวดเร็วในช่วงที่ผ่านมา นอกจากนี้ เงินดอลลาร์ฯ ยังขาดแรงหนุน หลังผลการประชุมเฟด (30 เม.ย.-1 พ.ค.) ที่แม้จะมีมติคงอัตราดอกเบี้ยไว้ตามเดิม แต่ก็มีการประกาศรายละเอียดของกระบวนการชะลอการลดงบดุล ซึ่งปัจจัยนี้กดดันบอนด์ยีลด์สหรัฐฯ ให้ปรับตัวลง ประกอบกับถ้อยแถลงของประธานเฟดยังคงย้ำถึงการรอจังหวะลดดอกเบี้ยเมื่อเงินเฟ้อสหรัฐฯ กลับลงไปอยู่ในระดับที่เฟดสบายใจ และปฏิเสธโอกาสการขึ้นดอกเบี้ย
- สัปดาห์ระหว่างวันที่ 6-10 พ.ค. 2567 KBank คาดกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทที่ 36.50-37.00 บาทต่อดอลลาร์ฯ ปัจจัยที่ต้องติดตาม ได้แก่ สัญญาณการเข้าแทรกแซงตลาดเพื่อสกัดการอ่อนค่าของเงินเยนของทางการญี่ปุ่น ผลการประชุม BOE และ RBA ถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่เฟด การเคลื่อนไหวของค่าเงินเอเชียและราคาทองคำในตลาดโลก ดัชนี PMI ภาคบริการเดือนเม.ย. ของจีน ยูโรโซน และญี่ปุ่น ตัวเลขการส่งออกเม.ย. ของจีน รวมถึงดัชนีความเชื่อมั่นและตัวเลขเงินเฟ้อคาดการณ์ในมุมมองของผู้บริโภค (เบื้องต้น) เดือนพ.ค. ของสหรัฐฯ
สรุปความเคลื่อนไหวตลาดหุ้นไทย
- ดัชนีหุ้นไทยปิดบวกได้ต่อเนื่องจากสัปดาห์ก่อน ทั้งนี้ภาพรวมตลาดหุ้นไทยปรับตัวขึ้นจากสัปดาห์ก่อน แม้ในช่วงแรกกรอบการปรับขึ้นของ SET Index จะเป็นไปอย่างจำกัด เนื่องจากมีปัจจัยกดดันจากตัวเลขส่งออกเดือนมี.ค.ของไทยที่หดตัวเป็นครั้งแรกในรอบ 8 เดือน การปรับประมาณการจีดีพีไทยปีนี้ลงมาที่ 2.4% โดยกระทรวงการคลัง และแรงขายหุ้นผู้ผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์รายใหญ่แห่งหนึ่ง แต่หุ้นไทยดีดตัวขึ้นชัดเจนในเวลาต่อมาท่ามกลางแรงซื้อคืนหุ้นหลายกลุ่ม โดยเฉพาะกลุ่มแบงก์ และกลุ่มอาหารและเครื่องดื่มจากการคาดการณ์เรื่องผลประกอบการ ประกอบกับมีแรงหนุนเพิ่มเติมจากทิศทางหุ้นภูมิภาคในช่วงปลายสัปดาห์หลังบอนด์ยีลด์สหรัฐฯ ปรับตัวลงต่อเนื่องจากช่วงหลังผลการประชุมเฟด อนึ่งหุ้นไทยย่อตัวลงสั้นๆ ช่วงกลางสัปดาห์ หลังวันหยุดแรงงาน ตามแรงขายของกลุ่มนักลงทุนต่างชาติ ประกอบกับมีแรงขายทำกำไรในหุ้นกลุ่มพลังงาน หลังราคาน้ำมันในตลาดโลกปรับตัวลง
- สัปดาห์ที่ 6-10 พ.ค. เม.ย. 2567 KSecurities คาดแนวรับที่ 1,355 และ 1,345 จุด ขณะที่ แนวต้านอยู่ที่ 1,375 และ 1,385 จุด ตามลำดับ โดยปัจจัยที่ต้องติดตาม ได้แก่ ถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่เฟด ทิศทางเงินทุนต่างชาติ ผลประกอบการไตรมาส 1/2567 ของบจ.ไทย ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนพ.ค. (เบื้องต้น) ของสหรัฐฯ ดัชนี PMI ภาคบริการเดือนเม.ย.ของจีน ญี่ปุ่นและยูโรโซน การประชุม BOE และตัวเลขจีดีพีไตรมาส 1/2567 ของอังกฤษ ตลอดจนตัวเลขส่งออกเดือนเม.ย.ของจีน
Scan QR Code
หมายเหตุ
รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น