Display mode (Doesn't show in master page preview)

7 ตุลาคม 2565

Econ Digest

ตลาดคริปโทฯ... ผันผวนแรง 5 สิ่งสำคัญสำหรับการลงทุน คือ?

คะแนนเฉลี่ย

​        ตั้งแต่ช่วงต้นปี 2565 ที่ผ่านมา ตลาดคริปโทเคอร์เรนซีโลกมีความผันผวนค่อนข้างมากและอยู่ในช่วงขาลง จากการที่ต้องเผชิญกับวิกฤติความเชื่อมั่นหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นการล่มสลายของเหรียญคริปโทเคอร์เรนซี และ Stablecoin (LUNA และ UST) รวมไปถึงการล้มละลายของแพลตฟอร์มกู้ยืมเงินคริปโทเคอร์เรนซี (Celsius Network และ Babel Finance) และการปิดตัวของศูนย์ซื้อขายคริปโทเคอร์เรนซีรายใหญ่ระดับโลก (Mt.Gox) ขณะเดียวกัน ด้วยภาวะอัตราดอกเบี้ยขาขึ้นทั่วโลก ก็เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เกิดแรงเทขายสินทรัพย์เสี่ยงอย่างคริปโทเคอร์เรนซี และเป็นการตอกย้ำภาพความผันผวนของตลาดคริปโทเคอร์เรนซีที่ยังยากต่อการหาปัจจัยพื้นฐานมารองรับความเคลื่อนไหวของราคา ทั้งนี้ ปัจจุบัน ตลาดคริปโทเคอร์เรนซีโลกมีมูลค่าประมาณ 0.92 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ1  ลดลงมากถึงร้อยละ 58.6 จากช่วงต้นปี 2565




        เมื่อกลับมาพิจารณาตลาดคริปโทเคอร์เรนซีหรือตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลในประเทศไทย ก็พบว่ามีทิศทางการลงทุนเช่นเดียวกับตลาดโลก โดยในเดือนสิงหาคม 2565 ที่ผ่านมา มีมูลค่าการซื้อขาย 66 พันล้านบาท ลดลงราวร้อยละ 51.2 จากเดือนมกราคม 2565 ขณะเดียวกัน ตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลไทยยังคงมีมูลค่าไม่มากนัก โดยมูลค่าการซื้อขายคิดเป็นเพียง 0.02 เท่าของมูลค่าตลาดหลักทรัพย์ในไทย2      

        ส่วนนักลงทุนในตลาดคริปโทเคอร์เรนซีไทยก็ยังถือว่าอยู่ในวงจำกัด โดยเฉพาะในกลุ่มนักลงทุนที่สามารถยอมรับความเสี่ยงได้ในระดับสูง ทั้งนี้ ณ เดือนสิงหาคม 2565 มีบัญชีซื้อขายอยู่ที่ 2.9 ล้านบัญชี เพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 0.8 จากช่วงเดือนมกราคม 2565 และคิดเป็นเพียง 0.52 เท่าของจำนวนบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ในไทย อย่างไรก็ดี แม้ว่าตลาดคริปโทเคอร์เรนซีในไทยจะยังมีขนาดเล็ก ทั้งในด้านมูลค่าการซื้อขายและจำนวนนักลงทุน แต่จะเห็นได้ว่าจากภาวะความผันผวนรุนแรงและวิกฤตเหตุการณ์ในตลาดคริปโทเคอร์เรนซีโลกที่เกิดขึ้นยังส่งผลกระทบต่อเนื่องมายังการดำเนินธุรกิจศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลในไทยบางราย จนอาจมีผลกระทบต่อไปยังอัตราผลตอบแทนที่คาดหวังและระดับความเชื่อมั่นของนักลงทุนไทยในระยะข้างหน้าอยู่ไม่น้อย

ด้วยภาวะความผันผวนรุนแรงและเหตุการณ์ต่างๆ ข้างต้น อันน่าจะกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนไทย ตามที่กล่าวมาข้างต้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้ทำการสำรวจพฤติกรรมของกลุ่มนักลงทุนตลาดคริปโทเคอร์เรนซีในรูปแบบโฟกัสกรุ๊ป3   และพบประเด็นสำคัญหลายประการ ดังนี้

-    ในช่วงครึ่งปีแรก (เดือนมกราคม– มิถุนายน 2565) นักลงทุนไทยส่วนใหญ่ราวร้อยละ 77.2 ประสบกับผลขาดทุน และส่วนใหญ่ขาดทุนสูงมากกว่าร้อยละ 50 ขณะเดียวกัน ก็ยังคงมีนักลงทุนบางส่วนที่ได้กำไร โดยส่วนใหญ่จะได้กำไรอยู่ในกรอบร้อยละ 10 – 15

-    ประสบการณ์จากการลงทุนไม่ได้ช่วยให้ขาดทุนลดลงในช่วงที่เกิดภาวะตลาดผันผวนรุนแรง โดยนักลงทุนที่ลงทุนมานาน ก็ยังสามารถมีผลที่ขาดทุนได้ ขณะที่นักลงทุนที่เพิ่งลงทุนก็สามารถมีผลกำไรได้เช่นกัน นั่นอาจขึ้นอยู่กับปัจจัยอื่นๆ ร่วมด้วย โดยเฉพาะจุดเวลาในการเข้าลงทุน

-    อย่างไรก็ตาม แม้ว่านักลงทุนไทยส่วนใหญ่ในตลาดจะประสบกับผลขาดทุน แต่สัดส่วนนักลงทุนราวร้อยละ 86.6 สามารถยอมรับได้ และยังไม่เลือกที่จะออกจากตลาด ขณะที่มีเพียงส่วนน้อยเพียงร้อยละ 2.7 ที่รู้สึกเสียใจ รับไม่ได้ และต้องการออกจากตลาดคริปโทเคอร์เรนซีเพื่อไปลงทุนในสินทรัพย์ทางการเงินอื่นๆ อย่างไรก็ดี ก็ยังคงคาดว่า นักลงทุนส่วนใหญ่ที่ลงทุนในตลาดคริปโทเคอร์เรนซีได้ทำการลงทุนในสินทรัพย์ทางการเงินอื่นๆ อยู่แล้วเป็นทุนเดิม โดยลงทุนคริปโทเคอร์เรนซีเพื่อเป็นสินทรัพย์ทางเลือกเพิ่มเติมสำหรับการกระจายความเสี่ยงและเก็งกำไร หรือแม้แต่การทดลองเพื่อศึกษาความเคลื่อนไหวในตลาดคริปโทเคอร์เรนซี

-    ท่ามกลางภาวะตลาดคริปโทเคอร์เรนซีที่ผันผวนรุนแรงและมีความเสี่ยงในระดับสูง นักลงทุนไทยกว่าร้อยละ 90 ก็ได้มีการศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับตลาดคริปโทเคอร์เรนซี รวมถึงสินทรัพย์ดิจิทัลอื่นๆ เพิ่มเติมอย่างต่อเนื่อง โดยแหล่งเรียนรู้สำคัญ 3 อันดับแรก มักมาจาก 1) เว็บไซต์หรือเฟซบุ๊กแฟนเพจที่น่าเชื่อถือของสื่อ รวมถึงศูนย์วิจัยต่างๆ (ร้อยละ 27.8) 2) บทความทางวิชาการจากนักวิชาการ นักวิเคราะห์ หรือผู้เชี่ยวชาญในตลาด (ร้อยละ 20.1) และ 3) การพูดคุยแลกเปลี่ยนในหมู่นักลงทุนในตลาดคริปโทเคอร์เรนซี (ร้อยละ 15.0)

       แม้ว่านักลงทุนในตลาดคริปโทเคอร์เรนซีส่วนใหญ่จะสามารถยอมรับความเสี่ยงและผลขาดทุนได้ด้วยความคาดหวังว่าจะได้รับผลตอบแทนกลับคืนมาจากความเชื่อที่ว่าตลาดคริปโทเคอร์เรนซีน่าจะฟื้นตัวได้ในระยะข้างหน้า แต่จะสังเกตได้ว่านักลงทุนส่วนใหญ่อาจจะยังไม่สามารถอธิบายถึงเหตุผลในการเข้าซื้อหรือการอยู่ในตลาดคริปโทเคอร์เรนซีต่อ ภายใต้การใช้ปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจมารองรับ


       ดังนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า สิ่งที่ยังสำคัญจำเป็นสำหรับนักลงทุนตลาดคริปโทเคอร์เรนซี คือ

-    ทบทวนการลงทุนให้อยู่ภายใต้การคำนึงถึงปัจจัยพื้นฐานที่ดีและสามารถประเมินมูลค่าทางเศรษฐกิจได้ เพราะไม่เช่นนั้นแล้ว นักลงทุนจำเป็นต้องแบกรับความเสี่ยงในระดับสูงขึ้นไปอีกจนเกินกว่าจะยอมรับได้ จากเดิมที่ก็อยู่ในระดับสูงอยู่แล้ว

-    เข้าใจความแตกต่างระหว่างการลงทุนและการเก็งกำไร โดยการลงทุนในสินทรัพย์ทางการเงินที่ยั่งยืนในระยะยาวจำเป็นต้องมีปัจจัยพื้นฐานมารองรับและสามารถประเมินมูลค่าทางเศรษฐกิจได้ ขณะที่การเก็งกำไรอาจไม่จำเป็นต้องอาศัยข้อมูลหรือปัจจัยพื้นฐานใดๆ มารองรับ นักลงทุนจึงจำเป็นต้องพึงระวังและตระหนักรู้ว่าการเก็งกำไรนั้นอาจมีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดความเสียหายจากการถือสินทรัพย์นั้นๆ ในระยะข้างหน้า

-    ตระหนักรู้ว่าตลาดคริปโทเคอร์เรนซีมีความผันผวนสูง ทำให้โอกาสการทำกำไรตามโฆษณาไม่เป็นจริงเสมอไป ซึ่งต้องขึ้นอยู่กับจังหวะการเข้าลงทุนและการขายออกที่แตกต่างกัน

-    ศึกษาและเรียนรู้เกี่ยวกับตลาดคริปโทเคอร์เรนซีเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพราะแม้ว่านักลงทุนจะมีการศึกษาข้อมูลมาในระดับหนึ่งแล้ว แต่อาจไม่เพียงพอต่อการเรียนรู้เท่าทันความเป็นไปในตลาด เนื่องจากข้อมูลตลาด รวมถึงรูปแบบการลงทุนมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและซับซ้อนมากขึ้น

-    ตื่นตัวในการติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เพื่อให้สามารถนำมาวิเคราะห์ประกอบการตัดสินใจเลือกลงทุนและสามารถอยู่รอดในตลาดคริปโทเคอร์เรนซีได้





 


 


Click
 ชมคลิป คริปโทเคอร์เรนซี ลงทุนแบบเก็งกำไรหรือด้วยปัจจัยพื้นฐาน?




----------------------------------------------------------------------------------------------------

 1 มูลค่าตลาดคริปโทเคอร์เรนซี (Market Capitalization) ณ วันที่ 26 กันยายน 2565 (ที่มา: coinmarketcap.com)

 2 เทียบกับมูลค่าการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ในเดือนสิงหาคม 2565

 3 สำรวจพฤติกรรมการลงทุนตลาดคริปโทเคอร์เรนซีในภาวะผันผวนรุนแรง (ช่วงเดือนมกราคม – มิถุนายน 2565) แบบโฟกัสกรุ๊ป โดยมีกลุ่มตัวอย่าง 145 ตัวอย่าง และทำการสำรวจตั้งแต่ 16 กรกฎาคม – 15 กันยายน 2565

Scan QR Code


QR Code

หมายเหตุ

รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น