Display mode (Doesn't show in master page preview)

22 เมษายน 2565

Econ Digest

ส่อง...ตลาดคริปโทฯไทย ติดตามเกณฑ์กำกับล่าสุด

คะแนนเฉลี่ย

​หากมองโดยภาพรวมแล้ว คริปโทเคอร์เรนซีในโลกปัจจุบัน มักถูกใช้ด้วยวัตถุประสงค์อยู่ 2 ประการหลัก นั่นคือ 1) ใช้เพื่อเป็นสินทรัพย์ทางเลือกสำหรับการลงทุน และ 2) ใช้เพื่อเป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนสินค้าและบริการ รวมถึงสินทรัพย์ดิจิทัลอื่นๆ ด้วยกัน อาทิ การซื้อขาย NFT (Non-Fungible Token) เป็นต้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา ที่กระแสความนิยมลงทุนในคริปโทเคอร์เรนซีทั่วโลกเพิ่มสูงขึ้น ทำให้ผู้ประกอบการในหลายๆ ธุรกิจทั่วโลกเริ่มเปิดรับชำระค่าสินค้าและบริการด้วยคริปโทเคอร์เรนซีมากขึ้น

    สำหรับตลาดคริปโทเคอร์เรนซีในไทย ก็เป็นไปตามทิศทางการของตลาดโลก ทั้งกระแสการลงทุนที่สะท้อนจากจำนวนบัญชีผู้ลงทุนในตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลในไทยเดือนกุมภาพันธ์ 2565 ที่สูงถึง 2.59 ล้านบัญชี เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดจากช่วงเดียวกันของปี 2564 ถึง 5 เท่า ขณะที่ แม้ผู้ประกอบการธุรกิจรายใหญ่ในไทยหลายรายวางแผนเปิดรับชำระค่าสินค้าและบริการด้วยคริปโทเคอร์เรนซี อาทิ กลุ่มอสังหาริมทรัพย์และค้าปลีก แต่ก็ถือเป็นการแบกรับความเสี่ยงของทั้งผู้ซื้อและผู้ขายสินค้าและบริการด้วยกันเอง เนื่องจากคริปโทเคอร์เรนซียังไม่ถือเป็นเงินตราที่จะสามารถชำระหนี้ได้ตามกฎหมายของทุกประเทศทั่วโลก ยกเว้นเพียงประเทศเอลซาวาดอร์ที่มีกฎหมายชัดเจนถึงการรับรองให้บิตคอยน์เป็นสกุลเงินที่สามารถนำมาชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย ซึ่งเป็นประเทศแรกและประเทศเดียวของโลกอยู่ในขณะนี้ อีกทั้ง ผู้ซื้อและผู้ขายสินค้าและบริการก็ยังมีความเสี่ยงด้านความผันผวนของราคา อันเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้คริปโทเคอร์เรนซียังขาดคุณสมบัติของการเก็บมูลค่าและหน่วยวัดมูลค่าที่ดี




สำหรับไทยก็เช่นกัน ธนาคารแห่งประเทศไทยก็มีนโยบายที่ชัดเจนว่าไม่ต้องการเห็นการนำสินทรัพย์ดิจิทัลใดๆ ซึ่งหมายรวมถึงสกุลเงินดิจิทัลจากภาคเอกชนมาใช้เพื่อชำระค่าสินค้าและบริการแทนเงินบาทในวงกว้าง (Means of Payment) ขณะที่ ก.ล.ต. ก็ต้องการให้คริปโทเคอร์เรนซีเป็นเพียงทางเลือกในการลงทุนเท่านั้น นั่นหมายความว่า ธุรกิจที่ต้องการเชื่อมโยงสินค้าและบริการของตนเข้ากับโลกของสินทรัพย์ดิจิทัลคงต้องทบทวนแผนธุรกิจให้เหมาะสมกับทิศทางเชิงนโยบายดังกล่าวด้วย ขณะเดียวกัน กลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับสินทรัพย์ดิจิทัล โดยเฉพาะศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล คงต้องต้องจัดทำระบบใหม่เพิ่มเติม เพื่อรองรับกับการรายงานการซื้อขาย แลกเปลี่ยน และการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัล การจัดเก็บข้อมูลธุรกรรมของลูกค้า เพื่อเป็นประโยชน์ต่อการยื่นภาษีของนักลงทุนประจำปี ตลอดจนระบบการหักภาษีมูลค่าเพิ่ม ซึ่งคงนำมาสู่เงินลงทุนสูงขึ้นกว่าเดิม ส่วนนักลงทุนเองก็ควรจะต้องติดตามหลักเกณฑ์ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนจากทางการด้วยเช่นกัน เพราะการเปลี่ยนแปลงในเทคโนโลยีที่รวดเร็ว ย่อมนำมาสู่นวัตกรรมในโลกสินทรัพย์ดิจิทัลและเงินดิจิทัลที่คงรวดเร็วไม่แพ้กัน ซึ่งอาจทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทั้งฝั่งผู้ใช้งาน และฝั่งทางการให้ต้องมีการปรับปรุงแนวทางการกำกับดูแลให้เหมาะสมกับปัจจัยแวดล้อมเป็นระยะ ขณะที่ เราคงเห็นการทดลองนำเงินดิจิทิลที่พัฒนาโดย ธปท.มาใช้ในชีวิตประจำวันในอีกไม่นานเกินรอ...


Scan QR Code


QR Code

หมายเหตุ

รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น

Econ Digest