Display mode (Doesn't show in master page preview)

2 ตุลาคม 2562

Econ Digest

ต้องการน้ำตาลเพิ่ม? ยิ่ง...หวาน ยิ่ง...จ่ายแพง

คะแนนเฉลี่ย

​​            เริ่มแล้ววันนี้สำหรับการจัดเก็บภาษีความหวานอัตราใหม่ (รอบที่ 2) หลังจากมีผลบังคับใช้ครั้งแรก (16 ก.ย. 2560 ถึง 30 ก.ย. 2562) ตามกฎหมาย พ.ร.บ.สรรพสามิตฉบับใหม่ โดยจัดเก็บภาษีในอัตราก้าวหน้าตามปริมาณน้ำตาล กล่าวคือยิ่งมีน้ำตาลมาก ก็ยิ่งเสียภาษีในอัตราที่สูง ทั้งนี้ ในบรรดาสินค้ากลุ่มเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลเป็นองค์ประกอบ อาทิ เครื่องดื่มฟังก์ชันนอลดริงค์ เครื่องดื่มชูกำลัง ชาเขียว น้ำอัดลม น้ำผลไม้ กลุ่มนมปรุงแต่ง (อาทิ นมเปรี้ยว) ฯลฯ จะเป็นกลุ่มสินค้าที่เข้าข่ายได้รับผลกระทบ อย่างไรก็ดี คาดว่าผลกระทบที่เกิดขึ้นน่าจะไม่กระทบมากเมื่อเทียบกับครั้งก่อน เพราะผู้ประกอบการปรับตัวมาแล้วเป็นส่วนใหญ่ในรอบแรกและสำหรับรอบที่ 2 นี้ก็มีเวลาปรับตัวมาระยะหนึ่งแล้ว โดยการปรับตัวก็มีทั้งในรูปแบบของการปรับสูตร-ลดความหวานในผลิตภัณฑ์ การนำสารให้ความหวานทดแทนต่างๆ มาใช้ เพื่อจะทำให้เสียภาษีความหวานน้อย หรือในบางผลิตภัณฑ์ที่ต้องการรสชาติเดิม หรือไม่สามารถปรับสูตรได้จริงๆ เพราะสินค้าเป็นที่ต้องการของลูกค้าปลายทาง ก็มีความจำเป็นต้องปรับขึ้นราคา ให้สอดรับกับภาษีที่เปลี่ยนไป แต่ก็อาจปรับราคาขึ้นได้จำกัด เพราะการแข่งขันในตลาดที่สูงและมีสินค้าทดแทนอยู่มาก​

​​



          ในฝั่งของผู้บริโภค ผลของมาตรการดังกล่าว น่าจะกระทบกำลังซื้อผู้บริโภคที่จะต้องจ่ายเงินเพิ่มขึ้น หากบริโภคเครื่องดื่มในกลุ่มที่มีปริมาณน้ำตาลสูง แต่หากมองในแง่ของผลดีต่อสุขภาพ ซึ่งเป็นประเด็นที่ภาครัฐและเอกชน ตลอดจนพฤติกรรมคนรุ่นใหม่หันมาให้ความสนใจในระยะหลัง จะพบว่า ผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นกับฝั่งผู้บริโภคคือมีทางเลือกในการบริโภคสินค้าที่ดีต่อสุขภาพมากขึ้น จากภาพการแข่งขันที่ยังเข้มข้น เช่น การเข้ามาทำตลาดของกลุ่มเครื่องดื่มที่ปราศจากน้ำตาล น้ำตาลน้อย หรือเครื่องดื่มที่ให้ความหวานแต่ไม่มีน้ำตาล โดยใช้แหล่งความหวานทางเลือกอื่นแทน ฯลฯ

           อนึ่ง หากพิจารณาแหล่งความหวานทางเลือกที่ใช้ทดแทนน้ำตาลในปัจจุบัน พบว่า ส่วนใหญ่ที่นิยมใช้ในอุตสาหกรรมเครื่องดื่ม มักเป็นสารให้ความหวานแทนน้ำตาลแบบสารสังเคราะห์ (Artificial sweetener) อาทิ แอสพาแตม (Aspartame) ซูคราโลส (Sucralose) ฯลฯ เพราะมีราคาปานกลางไม่สูงมาก ในขณะที่สารให้ความหวานจากธรรมชาติ (Natural Sweeteners) อย่างหญ้าหวาน (Stevia) ยังมีไม่มากนัก เพราะมีราคาสูง ทั้งนี้ มีการคาดการณ์ว่ามูลค่าตลาดสารให้ความหวานแทนน้ำตาลแบบสารสังเคราะห์ของโลกปี 2562 น่าจะอยู่ที่ 7.22 พันล้านเหรียญสหรัฐฯและน่าจะเติบโตเฉลี่ย 5.05% ในช่วงปี 2561-2567 หลังจากที่หลายประเทศทั่วโลกพร้อมใจกันรณรงค์และออกมาตรการลดการบริโภคน้ำตาลมากขึ้น อาทิ หลายประเทศในฝั่งตะวันตก และประเทศในแถบเอเชียอย่าง อินเดีย ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย รวมถึงไทย

            ​จึงเป็นเรื่องที่น่าชวนคิดว่า การหันไปใช้สารให้ความหวานแทนน้ำตาล จะเกิดผลเสียต่อสุขภาพหรือไม่ ดังนั้น หากผู้บริโภคต้องการมีสุขภาพที่ดี สิ่งสำคัญควรอยู่ที่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการบริโภคให้มีความสมดุลและได้คุณค่าครบตามโภชนาการ ด้วยการลดความหวาน ลดเค็ม และบริโภคอย่างพอดี



Scan QR Code


QR Code

หมายเหตุ

รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น

Econ Digest