Display mode (Doesn't show in master page preview)

16 ธันวาคม 2565

Econ Digest

ภาษีหุ้น ประเทศไหน...เก็บแบบใดกันบ้าง?

คะแนนเฉลี่ย

​    เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2565 ที่ผ่านมา ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบการจัดเก็บภาษีขายหุ้น (Financial Transaction Tax) ที่ร้อยละ 0.11 (เมื่อรวมภาษีท้องถิ่นที่ร้อยละ 0.01) ของมูลค่าการขาย โดยน่าจะเริ่มจัดเก็บได้ตั้งแต่วันที่พระราชกฤษฎีกามีผลบังคับใช้ ซึ่งอยู่ในไตรมาสที่ 2 ของปี 2566 ไปจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2566 ที่ร้อยละ 0.055 (เมื่อรวมภาษีท้องถิ่นที่ร้อยละ 0.005) ของมูลค่าการขาย และจะเก็บที่อัตราปกติตั้งแต่ปี 1 มกราคม 2567 เป็นต้นไป ทั้งนี้ อัตราภาษีขายหุ้นดังกล่าวเป็นภาษีเฉพาะภายใต้ พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 30) พ.ศ. 2534 และได้รับการยกเว้นตั้งแต่ปี 2535

    อย่างไรก็ดี จะมีบางกลุ่มที่ได้รับการยกเว้นภาษีขายหุ้นดังกล่าว ซึ่งครอบคลุมกองทุนเพื่อการออมและเกษียณอายุ รวมถึง Market Maker อันได้แก่ กองทุนประกันสังคม กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ กองทุนสงเคราะห์ต่างๆ (ตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชน) กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ อาทิ RMFกองทุนการออมแห่งชาติ กองทุนรวมที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ เพื่อขายหน่วยลงทุนในกองทุนรวมแก่สำนักงานประกันสังคม ตลอดจน ผู้ดูแลสภาพคล่องที่ได้ขึ้นทะเบียนกับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เฉพาะกิจการขายหลักทรัพย์ตามกฎหมายว่าด้วยตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยที่บุคคลนั้นได้ขึ้นทะเบียนเป็นผู้ดูแลสภาพคล่องของหลักทรัพย์นั้น

    หากพิจารณาการจัดเก็บภาษีจากการทำธุรกรรม (ซื้อ – ขาย) ในตลาดหลักทรัพย์ในประเทศไทย จะพบว่า ปัจจุบัน มีการจัดเก็บภาษีหลักๆ อยู่ 2 รูปแบบ คือ 1) ภาษีจากเงินปันผล (Dividend Tax) หัก ณ ที่จ่ายร้อยละ 10 (ยกเว้นการลงทุนในบริษัทที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนจาก BOI) และ 2) ภาษีกำไรจากการขายหลักทรัพย์ (Capital Gain Tax) โดยหากเป็นนักลงทุนนิติบุคคลจะต้องนำไปรวมเป็นเงินได้เพื่อใช้ในการหักภาษีเงินได้นิติบุคคล ขณะที่นักลงทุนรายย่อยจะได้รับการยกเว้น

    สำหรับการจัดเก็บภาษีการทำธุรกรรมในตลาดหลักทรัพย์ต่างประเทศ พบข้อสังเกตคือ ในตลาดที่พัฒนาแล้วอย่างสหรัฐฯ เยอรมนี ญี่ปุ่น จะมีการจัดเก็บภาษีทั้งจากเงินปันผลและกำไรจากการขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์ในอัตราที่ค่อนข้างสูง ส่วนเกาหลีใต้เอง แม้ว่าปัจจุบันจะมีการยกเว้นภาษีกำไรจากการขายหลักทรัพย์ แต่ทางการก็มีแผนที่จะจัดเก็บส่วนนี้ในปี 2568 ที่ร้อยละ 20 – ร้อยละ 25 ซึ่งก็เป็นอัตราที่ค่อนข้างสูงเช่นกัน ขณะเดียวกัน ตลาดที่กำลังพัฒนา จะมีการเก็บภาษีจากเงินปันผลและกำไรจากการขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์ในอัตราที่ต่ำกว่า เมื่อเปรียบเทียบกับตลาดที่พัฒนาแล้ว และส่วนใหญ่ก็มีการยกเว้นการจัดเก็บภาษีกำไรจากการขายหลักทรัพย์ด้วย (ซึ่งเป็นไปในแนวทางเดียวกับไทย) ไม่ว่าจะเป็นจีน มาเลเซีย อินโดนีเซีย เวียดนาม เป็นต้น และในบางประเทศอย่างเช่น มาเลเซีย ก็มีการยกเว้นภาษีจากเงินปันผลอีกด้วย โดยมีเฉพาะการจัดเก็บภาษีจากอากรแสตมป์เพียงอย่างเดียวเท่านั้น

    ส่วนประเด็นภาษีขายหุ้นนั้น ก็จะสังเกตว่า ตลาดที่พัฒนาแล้วบางแห่งก็ยังมีการยกเว้นภาษีประเภทนี้ อาทิ สหรัฐฯ ญี่ปุ่น ขณะเดียวกัน ในตลาดที่กำลังพัฒนาบางแห่งก็อาจมีการจัดเก็บภาษีประเภทนี้ด้วย อาทิ อินโดนีเซีย และเวียดนาม เป็นต้น ซึ่งความแตกต่างกันของวิธีและอัตราการเก็บภาษีข้างต้น ขึ้นอยู่กับนโยบายของทางการที่ต้องการสร้างความเป็นธรรม และควบคุมหรือป้องกันการทำธุรกรรมที่ผิดปกติ รวมถึงโครงสร้างเศรษฐกิจ การเงิน ตลาดทุน และนักลงทุน ตลอดจนนโยบายด้านการคลังในแต่ละประเทศด้วย


หมายเหตุ:       1) ยกเว้นภาษีในกรณีที่ได้รับเงินปันผลจากบริษัทที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน BOI

2) กรณีโอนใบหุ้น โดยโดยคิดตามราคาหุ้นที่ชำระแล้ว (แล้วแต่ว่าจำนวนใดจะมากกว่ากัน) เว้นแต่เป็นการโอนหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์ ซึ่ง TSD เป็นนายทะเบียน

3) ในกรณีที่ซื้อหุ้นในบริษัทขนาดใหญ่ที่มีมูลค่ามากกว่า 1 พันล้านยูโร

4) National tax ร้อยละ 15.315 และ Local inhabitant’s tax ร้อยละ 5

5) รัฐบาลเกาหลีใต้มีแผนที่จะจัดเก็บ capital gain tax สำหรับการลงทุนหุ้นในปี 2568 คือ 1) จัดเก็บที่ร้อยละ 20 ในกรณีที่ได้กำไรมากกว่า 50 ล้านวอน และ 2) จัดเก็บที่ร้อยละ 25 ในกรณีที่ได้กำไรมากกว่า 300 ล้านวอน

 6) ยกเว้นเป็นธุรกรรมที่เป็นการยืมหุ้นเพื่อการ short sales




 


Click
 ชมคลิป ภาษีหุ้น ประเทศไหน...เก็บแบบใดกันบ้าง?


Scan QR Code


QR Code

หมายเหตุ

รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น