Display mode (Doesn't show in master page preview)

3 ธันวาคม 2563

Econ Digest

แนวทางยกระดับ อุตสาหกรรมยาไทย ส่งเสริมการลงทุน สนับสนุนการวิจัย

คะแนนเฉลี่ย

การขยายตัวของจำนวนประชากรไทยโดยรวม และการเพิ่มขึ้นของสัดส่วนประชากรสูงอายุในยุค Aging Society เป็นปัจจัยกดดันต่อการจัดการระบบสาธารณสุขและงบประมาณด้านสาธารณสุขที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง เมื่อพิจารณางบประมาณด้านสาธารณสุขของไทย ในช่วงปีงบประมาณ 2560-2564 พบว่า อัตราการเติบโตเฉลี่ยของเงินงบประมาณกระทรวงสาธารณสุขอยู่ที่ 2.7% (CAGR) และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นในอัตราเร่งเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างประชากร รวมถึงการสร้างหลักประกันด้านสุขภาพ โดยสัดส่วนเงินงบประมาณด้านยารักษาโรค อยู่ในช่วงประมาณ 25-30% ของจำนวนงบประมาณรวมทั้งหมด ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการที่ไทยยังต้องพึ่งพาการนำเข้ายาแผนปัจจุบันจากต่างประเทศ โดยสัดส่วนมูลค่าการผลิตยาในประเทศต่อมูลค่าการนำเข้ายังมีสัดส่วนอยู่ที่ 30:70 ถึงแม้มูลค่าการผลิตยาในประเทศ ตั้งแต่ปี 2555 ปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อย แต่การผลิตยาในประเทศส่วนใหญ่เป็นการผลิตยาสามัญ และการรับผลิตยาสำเร็จรูป เนื่องจากไทยยังมีการวิจัยพัฒนายาต้นตำรับ สารออกฤทธิ์สำคัญ (Active Pharmaceutical Ingredients: API) ไม่มากนัก อีกทั้งยังมีข้อจำกัดด้านสิทธิบัตรยาของบริษัทต่างประเทศ แสดงให้เห็นว่า ยังคงมีช่องว่างในการพัฒนาอุตสาหกรรมยาของไทย โดยเฉพาะในระดับต้นน้ำของห่วงโซ่การผลิต
เพื่อลดการพึ่งพาการนำเข้ายาและช่วยสร้างความมั่นคงด้านสาธารณสุขในระยะยาว

ในขณะเดียวกัน การเปลี่ยนแปลงฐานการผลิตยาสำคัญในห่วงโซ่การผลิตโลกที่บริษัทเจ้าของสิทธิบัตรยาเลือกย้ายฐานการผลิตบางส่วนจากสหรัฐอเมริกา เยอรมนี อังกฤษ ไปยังจีน และอินเดีย จากข้อมูลของ U.S. Food and Drug Administration ในปี 2562 พบว่า ฐานการผลิต API ในจีนและอินเดีย คิดเป็นกว่า 1 ใน 3 ของกำลังการผลิตโลก ซึ่งจะเห็นได้ว่า ตั้งแต่ปี 2558 ไทยมีการนำเข้ายาจากสหรัฐอเมริกาลดลงเรื่อยๆ ในขณะที่สัดส่วนมูลค่าการนำเข้ายาจากจีนเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ แนวโน้มอุตสาหกรรมการแพทย์และสุขภาพโลกหันมาให้ความสนใจกับผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติและเทคโนโลยีชีวภาพมากขึ้น ซึ่งน่าจะเป็นแต้มต่อสำหรับอุตสาหกรรมยาของไทย จากการต่อยอดองค์ความรู้การใช้สมุนไพรเพื่อรักษาโรคไปสู่การผลิตยาแผนปัจจุบัน ภายใต้เงื่อนไขการเตรียมความพร้อมด้านการวิจัยพัฒนาและบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญ เพื่อรองรับโอกาสที่จะเป็นฐานการผลิตส่วนประกอบสำคัญในการผลิตยาโลกได้ในอนาคต

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า อุตสาหกรรมยาไทยต้องอาศัยปัจจัยสนับสนุนเพิ่มเติมเพื่อลดการพึ่งพิงการนำเข้ายาจากต่างประเทศ และเตรียมความพร้อมยกระดับเป็นฐานการผลิตในห่วงโซ่อุปทานยาโลก ใน 2 แนวทางหลัก คือ

  1. มาตรการส่งเสริมเพื่อดึงดูดการลงทุนในอุตสาหกรรมการพัฒนาและวิจัยการผลิตยาเพิ่มเติม แม้ว่าปัจจุบันจะมีมาตการส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมการแพทย์ ผ่านช่องทาง BOI อยู่แล้ว แต่อาจปรับเป็นกลยุทธ์เชิงรุกมากขึ้น เช่น การลงทุนร่วมกับบริษัทต่างชาติ เพื่อตั้งฐานการวิจัยพัฒนาและการผลิต API / ยาต้นตำรับ เนื่องจากในขั้นตอนคิดค้นสูตรยาจะเป็นช่วงที่โครงการยังไม่สามารถสร้างรายได้ ดังนั้นบทบาทของภาครัฐในการเป็นผู้ลงทุนประเดิม น่าจะช่วยเพิ่มโอกาสการลงทุนได้ ภายใต้ข้อกำหนดการถ่ายทอดเทคโนโลยี ทักษะผู้เชี่ยวชาญ และแนวทางการพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อการค้า
  2. การพัฒนากลไกสนับสนุนแรงจูงใจในการวิจัยพัฒนา เช่น การพัฒนาระบบกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา กลไกการจัดสรรเงินลงทุนสำหรับเทคโนโลยี และเป็นทุนวิจัยพัฒนาบุคลากรการจับคู่ทางธุรกิจเพื่อนำผลงานวิจัยไปต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อการค้า โดยจัดทำโครงการนำร่องต่อยอดพืชสมุนไพรไทยที่อาจนำไปพัฒนาและผลิตเป็นส่วนประกอบของ API ได้ อย่างขมิ้นชัน กระชายดำ เป็นต้น



1  เอกสารงบประมาณ, สำนักงบประมาณ

 2 Thailand Pharmaceutical and Healthcare Report, Fitch Solutions​






                                                                                                                                           ​       ขอบคุณภาพจาก  Shutterstock.com​

      

Scan QR Code


QR Code

หมายเหตุ

รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น

Econ Digest