Display mode (Doesn't show in master page preview)

14 ธันวาคม 2565

Econ Digest

KR-ECI เดือน พ.ย. 65 ปรับตัวดีขึ้นในรอบ 14 เดือน แต่ยังต่ำกว่าระดับช่วงก่อนโควิด-19 ครัวเรือนไทยกังวลลดลง...เรื่องภาระค่าครองชีพอย่างระดับราคาสินค้าและค่าใช้จ่าย

คะแนนเฉลี่ย

        ในเดือนพ.ย.65 ดัชนีภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือน (KR-ECI) ในปัจจุบันและ 3 เดือนข้างหน้าปรับตัวเพิ่มขึ้นที่ 35.0 และ 36.4 จาก 33.8 และ 35.7 ในเดือนต.ค.65 ท่ามกลางเงินเฟ้อไทยที่ปรับขึ้นในอัตราที่ชะลอลงเป็นเดือนที่ 3 ติดต่อกัน อีกทั้ง ครัวเรือนได้รับปัจจัยหนุนจากมุมมองที่ดีขึ้นเกี่ยวกับการจ้างงาน หลังภาคการท่องเที่ยวมีแนวโน้มฟื้นตัวดีขึ้นต่อเนื่อง

        ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้สำรวจเพิ่มเติมเกี่ยวกับแผนการสังสรรค์และท่องเที่ยวของครัวเรือนในช่วงสิ้นปี 2565 พบว่า ร้อยละ 38 มีแผนในการจัดงานสังสรรค์กับเพื่อนๆ /ครอบครัว ขณะที่ร้อยละ 23 ยังไม่มีแผนการเนื่องจากมีค่าใช้จ่ายที่สูงอยู่แล้ว สะท้อนให้เห็นว่าระดับราคาสินค้าที่อยู่ในระดับสูงจะยังเป็นปัจจัยฉุดรั้งต่อความต้องการใช้จ่ายของครัวเรือนบางส่วน นอกจากนี้ ผลสำรวจยังระบุว่า ครัวเรือนร้อยละ 54 คาดว่าจะมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า

        ขณะที่ภาคการท่องเที่ยวจะเป็นปัจจัยหนุนสำคัญต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย และภาวะการครองชีพของครัวเรือน โดยเฉพาะในช่วงปลายปีซึ่งเป็นฤดูกาลท่องเที่ยวของไทย นอกจากนี้ ต้องติดตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจากภาครัฐที่คาดว่าจะมีความชัดเจนมากขึ้นก่อนช่วงสิ้นปีนี้ เช่น มาตรการลดหย่อนทางภาษี มาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายและท่องเที่ยว เป็นต้น

        เมื่อมองไปในปี 2566 การฟื้นตัวของภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือนยังต้องเผชิญกับหลายปัจจัยเสี่ยงสำคัญ โดยเฉพาะความผันผวนของราคาพลังงานซึ่งอาจส่งผลต่อขีดจำกัดของมาตรการอุดหนุนภาครัฐในระยะข้างหน้า อีกทั้ง แนวโน้มการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกที่อาจกระทบต่อภาคการส่งออกของไทยที่เริ่มเห็นภาพหดตัวในเดือนต.ค.65 รวมถึงภาคการท่องเที่ยวให้ฟื้นตัวได้อย่างจำกัด หรือน้อยกว่าที่คาดการณ์ในปีหน้า อย่างไรก็ดี อาจมีปัจจัยบวกจากจำนวนนักท่องเที่ยวจีนที่จะกลับเข้ามาหากมีการเปิดประเทศ


 


Click
 ชมคลิป KR-ECI เดือน พ.ย. 65 ปรับตัวดีขึ้นในรอบ 14 เดือน แต่ยังต่ำกว่าระดับช่วงก่อนโควิด-19 ครัวเรือนไทยกังวลลดลง...เรื่องภาระค่าครองชีพอย่างระดับราคาสินค้าและค่าใช้จ่าย





Scan QR Code


QR Code

หมายเหตุ

รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น

Econ Digest