Display mode (Doesn't show in master page preview)

29 มิถุนายน 2564

Econ Digest

ตลาดซื้อบ้าน ฟุบต่อปีที่ 3 “แผนกระตุ้นฯ-โควิด-วัคซีน” ตัวแปรการฟื้นตัว

คะแนนเฉลี่ย
​ตลาดที่อยู่อาศัยครึ่งหลังปี 2564 ยังต้องติดตามสถานการณ์โควิด19  ความคืบหน้าในการฉีดวัคซีน และการออกแผนกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งจะช่วยสร้างปัจจัยบวกต่อภาพรวมเศรษฐกิจและเพิ่มความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคในประเทศ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า กิจกรรมการซื้อขายที่อยู่อาศัยในช่วงครึ่งปีหลัง  อาจขยับเพิ่มขึ้นกว่าช่วงครึ่งปีแรก ซึ่งหลายเครื่องชี้สะท้อนภาพการหดตัวลึก ไม่ว่าจะเป็นยอดจองซื้อที่อยู่อาศัยที่หดตัว  24.2 (YoY) % หรือมีจำนวนเพียง 2.1 หมื่นหน่วย ต่ำสุดในรอบ 5 ปี และการเปิดโครงการใหม่ของผู้ประกอบการที่มีเพียง 2.0 หมื่นหน่วย หดตัว 35.0%  จากภาพรวมกำลังซื้อของผู้บริโภคที่ยังไม่ฟื้นตัวโดยเฉพาะฐานลูกค้าระดับล่าง-กลางล่างซึ่งเป็นกลุ่มลูกค้าหลัก รวมถึงข้อจำกัดในการเดินทางเข้าไทยของผู้ซื้อชาวต่างชาติ  เช่น จีน ญี่ปุ่น ไต้หวัน และยุโรป  โดยคาดว่าครึ่งหลังปี 2564 การโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล อาจฟื้นตัวเล็กน้อยจากที่คาดว่าจะหดตัว 15.1 %ในช่วงครึ่งปีแรก ส่งผลให้ทั้งปี 2564   มีจำนวนราว 1.76-1.82 แสนหน่วย หรือหดตัว 10.5 ถึง 7.4 % ต่อเนื่องจากปี 2563

  สำหรับครึ่งหลังปี 2564 ผู้ประกอบการพัฒนาที่อยู่อาศัยยังคงเผชิญปัจจัยท้าทายต่อเนื่อง อาทิ การระบายสินค้าคงเหลือ ที่ส่งผลต่อทางเลือกการลงทุนโครงการใหม่ที่จำกัด   ต้นทุนทางธุรกิจที่สูงขึ้นและการขาดแคลนแรงงานก่อสร้าง  รวมถึงต้นทุนทางการเงินที่สูงขึ้นขณะที่แหล่งเงินทุนมีจำกัด 

  ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า   อัตราการจองซื้อที่อยู่อาศัยในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลทั้งปี 2564 จะอยู่ที่ราว 5.6 – 5.8 หมื่นหน่วย หรือหดตัว14.2 ถึง 11.2 %  ขณะที่การลงทุนเปิดโครงการใหม่คาดว่าจะเหลือเพียง 5.5 - 5.8 หมื่นหน่วย หรือหดตัว 24.7 ถึง 20.6 %  ซึ่งเป็นการหดตัวต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2562 อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องติดตามนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ ที่อาจเข้ามาช่วยสร้างบรรยากาศเชิงบวกต่อธุรกิจที่อยู่อาศัยในระยะข้างหน้า รวมถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด และการเข้าถึงวัคซีนที่จะเป็นตัวแปรสำคัญต่อโอกาสการฟื้นตัวในช่วงครึ่งหลังของปี 2564


Scan QR Code


QR Code

หมายเหตุ

รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น

Econ Digest