Display mode (Doesn't show in master page preview)

15 กรกฎาคม 2563

Econ Digest

การนำเข้าข้าวภายใต้ AFTA (1 พ.ค.-30 ก.ย. ของทุกปี) ช่วยผู้ประกอบการอาหารแปรรูป...บริหารวัตถุดิบควบคุมต้นทุนการผลิต

คะแนนเฉลี่ย

กระทรวงพาณิชย์ได้มีการประชุมเมื่อเดือนมิถุนายน 2563 ที่ผ่านมา ในประเด็นประกาศกระทรวงพาณิชย์เรื่อง การนำข้าวเข้ามาในราชอาณาจักรตามความตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน พ.ศ.2563 โดยที่เป็นการสมควรปรับปรุงประกาศกระทรวงพาณิชย์เดิม เรื่อง การนำข้าวเข้ามาในราชอาณาจักรตามความตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน พ.ศ.2553 เพื่อให้การนำข้าวเข้ามาในราชอาณาจักรตามความตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน (ASEAN Free Trade Area (AFTA)) เป็นไปด้วยความเหมาะสมสอดคล้องกับความตกลงดังกล่าว ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ โดยมีหลักการกําหนดให้ต้องนําเข้าข้าวเพื่อใช้ในอุตสาหกรรมแปรรูปอาหารเพื่อการอุปโภคบริโภคสําหรับมนุษย์ในกิจการของตนเองเท่านั้น โดยไม่รวมถึงอุตสาหกรรมแปรสภาพ (การสีข้าว) ของโรงสี และไม่รวมถึงอาหารสำหรับสัตว์ ซึ่งขณะนี้เป็นการรับฟังความคิดเห็น (ร่าง) ตั้งแต่วันที่ 23 มิ.ย.ถึงวันที่ 22 ก.ค.2563



จากร่างประกาศฯ ดังกล่าว คาดว่าหากมีการบังคับใช้จริง ก็น่าจะไม่ส่งผลกระทบต่อผลผลิตข้าวในประเทศ เนื่องจากได้กำหนดช่วงเวลานำเข้าไม่ให้ตรงกับช่วงเวลาที่ผลผลิตข้าวในประเทศออกสู่ตลาด โดยเป็นการกำหนดใหม่ให้เป็นการนำเข้าช่วงเดียวคือ ตั้งแต่ 1 พ.ค.- 30 ก.ย.ของทุกปี (เดิมแบ่งเป็น 2 ช่วงคือ ตั้งแต่ 1 พ.ค.-31 ก.ค. และตั้งแต่ 1 ส.ค.-31 ต.ค.) ซึ่งช่วงเวลานี้ เป็นช่วงที่ผลผลิตข้าวออกสู่ตลาดจำนวนน้อยตามฤดูกาลอยู่แล้วจากภาวะภัยแล้งและฝนทิ้งช่วง จึงนับเป็นผลดีมากขึ้นในการปรับเป็นห้ามนำเข้าข้าวในแง่ที่เดือนต.ค.เป็นเดือนที่มีผลผลิตข้าวที่เริ่มใกล้ทยอยออกสู่ตลาดจำนวนมากแล้ว ขณะที่ในมุมของราคาก็เป็นช่วงที่ราคาข้าวสูงอยู่แล้วตามฤดูกาล ซึ่งจะเห็นได้จากในช่วงที่นำเข้า (พ.ค.-ต.ค.) ราคาข้าวเฉลี่ยจะสูงกว่าราคาเฉลี่ยในช่วงที่เหลือของปี ดังนั้น ในภาพรวมที่มีต่อรายได้เกษตรกร น่าจะไม่ส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจากข้าวที่นำเข้ามาในช่วงเวลาที่กำหนด เป็นช่วงที่ผลผลิตออกสู่ตลาดจำนวนน้อยอยู่แล้ว และผลผลิตข้าวส่วนใหญ่ก็ตกอยู่ในมือโรงสี หรือตัวแทนขายข้าว (หยง) แล้วด้วย ขณะที่การนำเข้าข้าวดังกล่าว ก็น่าจะไม่กระทบกับผลผลิตพืชอาหารสัตว์อื่นในประเทศด้วย เช่น ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มันสำปะหลัง ถั่วเหลือง เป็นต้น



 

สำหรับในแง่ของผู้ประกอบการผลิตอาหารแปรรูปที่ต้องใช้ข้าวเป็นวัตถุดิบ (นำข้าวไปแปรรูปในอุตสาหกรรมอาหารรวมราวร้อยละ 12) เช่น ขนมขบเคี้ยว เส้นก๋วยเตี๋ยว และน้ำมันรำข้าว คาดว่า ผู้ประกอบการอาหารแปรรูปจากข้าวอาจได้รับอานิสงส์จากการนำเข้าข้าวในช่วงเวลาดังกล่าว เนื่องจากจังหวะเวลานี้มักขาดแคลนวัตถุดิบเพื่อป้อนการผลิตเข้าสู่โรงงาน ทำให้มีการแย่งชิงวัตถุดิบระหว่างกันของผู้ประกอบการ ทำให้ผู้ประกอบการต้องเผชิญความไม่แน่นอนของวัตถุดิบ ดังจะเห็นว่า ในช่วงเดือนพ.ค.-ต.ค.แม้จะเป็นช่วงที่มีผลผลิตข้าวออกสู่ตลาดน้อยที่สุดตามฤดูกาล แต่ผู้ประกอบการอาหารแปรรูปจากข้าว ก็ยังสามารถทำการผลิตได้มากขึ้น แสดงถึงการไม่ขาดแคลนวัตถุดิบเพราะบางส่วนมีการนำเข้าข้าวมาทดแทน ดังนั้น การเปิดให้มีการนำเข้าข้าวเพื่อนำมาแปรรูปได้ในช่วงเวลาดังกล่าว น่าจะช่วยให้ผู้ประกอบอาหารแปรรูปได้รับอานิสงส์ เนื่องจากสามารถบริหารจัดการด้านวัตถุดิบได้อย่างต่อเนื่อง/เป็นระบบ และสามารถควบคุมต้นทุนการผลิตได้เป็นอย่างดี เพราะสามารถซื้อข้าวได้ในราคาถูก ซึ่งปกติราคาข้าวจะสูงในช่วงเวลาดังกล่าว อย่างไรก็ดี การนำเข้าข้าวภายใต้ข้อตกลงดังกล่าว อาจส่งผลกระทบต่อผู้ที่สต๊อกข้าวไว้ล่วงหน้าอย่างโรงสี โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรงสีที่อยู่ในห่วงโซ่การผลิตของอุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร   



 

อย่างไรก็ดี ยังมีข้อกังวลในบางประเด็น เช่น ไม่มีการกำหนดปริมาณในการนำเข้า (โควตา) ดังนั้น หากมีการขออนุญาตนำเข้าเป็นจำนวนมากก็อาจมีผลกระทบต่อผลผลิตและราคาข้าวในประเทศ รวมถึงปัญหาการลักลอบนำเข้าข้าวตามแนวชายแดนแบบผิดกฎหมาย ตลอดจนยังต้องจับตาเรื่องการตรวจสอบคุณภาพข้าวตามด่านกักกัน การตัดต่อพันธุกรรม โรคพืช/แมลง ซึ่งต้องมีการตรวจตราตามจุดต่างๆ ที่มีการนำเข้าอย่างรอบคอบและระมัดระวัง ทั้งนี้ ที่ผ่านมา การนำเข้าข้าวของไทยเป็นการนำเข้าภายใต้กรอบองค์การการค้าโลก (WTO) ซึ่งเก็บภาษีนำเข้าในโควตาร้อยละ 30 และนอกโควตาร้อยละ 52 โดยส่วนใหญ่เป็นการนำเข้าข้าวที่ไม่สามารถผลิตได้ในประเทศ เช่น ข้าวญี่ปุ่น (ข้าวเมล็ดสั้น) ข้าวบาสมาติจากอินเดีย เพื่อใช้ในธุรกิจร้านอาหาร ซึ่งการนำเข้าข้าวส่วนนี้มีสัดส่วนน้อยมากเมื่อเทียบกับปริมาณการค้าข้าวทั้งหมดของไทย​


 


Scan QR Code


QR Code

หมายเหตุ

รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น

Econ Digest