Display mode (Doesn't show in master page preview)

8 กรกฎาคม 2563

Econ Digest

โครงการ...โซลาร์ภาคประชาชน เตรียมเพิ่มอัตรารับซื้อไฟฟ้า

คะแนนเฉลี่ย
​​​​​  

    โซลาร์ภาคประชาชน เพิ่มอัตรารับซื้อไฟฟ้า ลดระยะเวลาคืนทุนเหลือหนึ่งปี

 
          โครงการโซลาร์ภาคประชาชน คือ โครงการรับซื้อกระแสไฟฟ้าที่ึครัวเรือนผลิตได้จาก​แสงอาทิตย์ หรือโซลาเซลล์ที่ติดตั้งบนหลังคา (โซลาร์รูฟท็อป) ซึ่งหากเหลือใช้สามารถขายไฟฟ้าเข้าระบบให้แก่ การไฟฟ้าฝ่ายจำหน่าย (กฟน. และ กฟภ.) ที่ราคา 1.68 บาทต่อหน่วย เป็นระยะเวลา 10 ปี โดยมีเป้าหมายรับซื้อไฟฟ้ารวม 100 เมกะวัตต์ ถึงแม้ว่าจะมีประชาชนขอเข้าร่วมโครงการเป็นจำนวนมาก แต่ผ่านเกณฑ์จนถึงขั้นทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้าได้มีเป็นจำนวนน้อย โดยสาเหตุที่ประชาชนไม่ผ่านเกณฑ์ส่วนใหญ่มีสาเหตุสำคัญจากระบบสายส่งไม่รองรับ หรือ บ้านที่ติดตั้งอยู่ไกลจากแนวสายส่ง 
 
 

 

    ปรับอัตรารับซื้อไฟฟ้า สร้างแรงจูงใจให้ประชาชนเข้าร่วมมากขึ้น

          ปัจจุบัน กระทรวงพลังงานกำลังอยู่ในระหว่างพิจารณามาตรการสร้างแรงจูงใจให้เพิ่มมากขึ้นเพื่อผลักดันโครงการ โซลาร์ภาคประชาชน เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการผลิตไฟฟ้าที่เป็นพลังงานสะอาดเพื่อใช้เอง ผ่านการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์บนหลังคาบ้าน หรือ โซลาร์รูฟท็อป โดยในเบื้องต้นมีแนวทางที่จะปรับอัตราการรับซื้อไฟฟ้าเป็นราว 2.00-2.20 บาทต่อหน่วย หลังจากที่ในปี ​2562 มีการเปิดโครงการเป็นครั้งแรก โดยรับซื้อไฟส่วนเกินจากการใช้งานในอัตรา 1.68 บาทต่อหน่วย เป็นระยะเวลา 10 ปี เพื่อจูงใจให้เกิดการลงทุนติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปภาคครัวเรือนที่ในปัจจุบันส่วนใหญ่มักจะยังไม่ติดตั้งแบตเตอรี่ เพราะยังคงมีต้นทุนที่สูง 
 
 
solar-meter  
 
          อย่างไรก็ดี หลังปิดรับสมัครโครงการในช่วงปลายปี 2562 ที่ผ่านมา ปรากฎว่ามีผู้สมัครและผ่านเกณฑ์ไม่มากนัก โดยคิดเป็นพลังงานไฟฟ้ารวมราว 3 เมกะวัตต์ จากเป้าหมาย 100 เมกะวัตต์ จึงได้มีแนวทางที่จะปรับเพิ่มอัตราการรับซื้อไฟสำหรับโครงการในปีนี้ ซึ่งแนวทางดังกล่าวน่าจะเพิ่มแรงจูงใจได้ในระดับหนึ่งเพราะเป็นระดับราคาที่สูงกว่าต้นทุนการผลิตไฟโดยโซลาร์รูฟท็อปซึ่งอยู่ที่ราว 1.85 บาทต่อหน่วย และสามารถลดระยะเวลาการคืนทุนลงได้ราว 1 ปี และน่าจะสร้างโอกาสทางธุรกิจให้เพิ่มขึ้นแก่ธุรกิจโซลาร์รูฟท็อปในระยะข้างหน้า 
 

    ตลาดโซลาร์รูฟท็อปสำหรับบ้านพักอาศัย​​

          นอกจากนี้ การส่งเสริมโซลาร์รูฟท็อปมีส่วนช่วยส่งเสริมธุรกิจที่เกี่ยวข้องทั้งอุปกรณ์ เช่น ระบบจัดเก็บพลังงาน (ESS) ให้เติบโตตาม และสอดรับกับเทรนด์ทั่วโลกที่พัฒนาเทคโนโลยีพลังงานสะอาด ทำให้อุปกรณ์ต่างๆ เริ่มมีราคาถูกลง และจำนวนผู้ผลิตไฟฟ้าใช้เองเพิ่มจำนวนมากขึ้น โดยเฉพาะจากตลาดโซลาร์รูฟท็อปสำหรับบ้านพักอาศัย ซึ่งมี 2 กลุ่มที่เป็นตลาดศักยภาพ ดังนี้
 
solar-meter  
 
          กลุ่มโครงการบ้านจัดสรรใหม่ที่ติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปมาพร้อมกับตัวบ้าน ซึ่งมักติดตั้งพร้อมกันเป็นจำนวนหลายร้อยหลังทำให้เกิดการประหยัดต้นทุนจากขนาด และมักออกแบบต้นทุนรวมไปกับการสร้างบ้าน ในขณะที่ผู้บริโภคก็สามารถขอเงินกู้ในการผ่อนบ้านดังกล่าวได้ง่ายและมีอัตราดอกเบี้ยต่ำกว่าการกู้เงินเพื่อติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปแยกต่างหาก ส่งผลให้ผู้บริโภคเกิดความสนใจซื้อบ้านดังกล่าวเพื่อประหยัดค่าไฟ แม้ว่าผู้บริโภคอาจมีพฤติกรรมอยู่บ้านช่วงกลางวันไม่นานนัก โดยปัจจุบันตลาดในกลุ่มนี้มีขนาดอยู่ที่ราว 2 เมกะวัตต์ และมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยราวร้อยละ 20 ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา นอกจากนี้ ในปี 2563 ผู้ประกอบการบ้านจัดสรรในกลุ่มนี้ ได้เริ่มขยายฐานลูกค้าจากบ้านเดี่ยวราคา 4 ล้านบาทขึ้นไป สู่ทาวน์โฮมราคา 2 ล้านบาทขึ้นไปซึ่งมีฐานตลาดที่กว้างกว่า ทำให้มีโอกาสเติบโตได้อีกในอนาคต 
 
          อย่างไรก็ดี การติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปในโครงการบ้านจัดสรรใหม่ มักดำเนินการโดยบริษัทในเครือของผู้ประกอบการบ้านจัดสรร หรือร่วมกับพันธมิตรทางธุรกิจ ทำให้ผู้ประกอบการอื่นอาจมีโอกาสทางธุรกิจอันจำกัดในตลาดกลุ่มนี้ 
 
solar-meter  
 
          กลุ่มบ้านทั่วไป/บ้านจัดสรรเดิมที่ยังไม่ได้ติดตั้งโซลาร์รูฟท็อป โดยเฉพาะครัวเรือนที่อยู่ในพื้นที่ซึ่งระบบไฟฟ้าไม่เสถียร และกลุ่มผู้พักอาศัยที่มีพฤติกรรมใช้ไฟฟ้าช่วงกลางวันมาก เช่น กลุ่มผู้ประกอบอาชีพที่ใช้บ้านเป็นสำนักงาน เป็นต้น ทำให้เกิดความต้องการติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปเพื่อลดค่าใช้จ่ายด้านไฟฟ้าในช่วงกลางวัน 
 
          ปัจจุบันตลาดในกลุ่มบ้านทั่วไปหรือบ้านจัดสรรเดิม มีปริมาณติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปอยู่ราว 4.9 เมกะวัตต์ และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม การติดตั้งดังกล่าวมักมีระดับคุณภาพที่หลากหลาย ซึ่งอาจไม่สอดคล้องกับเกณฑ์ของโครงการโซลาร์ภาคประชาชนที่ได้กำหนดมาตรฐานอุปกรณ์ต่างๆ เพื่อความปลอดภัยในการเชื่อมต่อกับระบบของการไฟฟ้า ส่งผลให้ครัวเรือนในกลุ่มนี้ส่วนหนึ่งไม่ผ่านเกณฑ์การพิจารณาของโครงการ ซึ่งประเด็นดังกล่าวจำเป็นต้องเพิ่มการประชาสัมพันธ์ เพื่อส่งเสริมให้ทั้งครัวเรือนและผู้ประกอบการโซลาร์รูฟท็อปต้องเลือกอุปกรณ์ติดตั้งให้ตรงตามมาตรฐานที่กำหนด       
 
solar-meter  
 

    ความเห็นของศูนย์วิจัยกสิกรไทย

          ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า กลุ่มบ้านทั่วไป/บ้านจัดสรรเดิมที่ยังไม่ได้ติดตั้งโซลาร์รูฟท็อป ซึ่งเป็นกลุ่มบ้านพักอาศัยเดิมและมีฐานตลาดขนาดใหญ่ น่าจะเป็นกลุ่มที่มีศักยภาพที่สุดในการเร่งการเติบโตของตลาดรับติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปในระยะข้างหน้าหากครัวเรือนได้รับแรงจูงใจที่มากพอ ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาประเด็นด้านแรงจูงใจ นอกเหนือจากการปรับระดับอัตรารับซื้อไฟฟ้า ซึ่งมีข้อจำกัดที่ไม่สามารถทำให้สูงเกินควรจนทำให้ครัวเรือนมุ่งแต่เพียงลงทุนเพื่อการขายไฟเท่านั้น ทางเลือกอีกทางหนึ่งคือการขยายระยะเวลารับซื้อไฟจาก 10 ปี เป็น 25 ปี ซึ่งเท่ากับอายุใช้งานของแผงโซลาร์เซลล์ และเทียบเท่ากับระยะเวลารับซื้อไฟของโครงการพลังงานแสงอาทิตย์สำหรับภาคเอกชนที่เกิดขึ้นช่วงก่อนหน้า แนวทางทั้งสองดังกล่าวเมื่อใช้ควบคู่กันจะทำให้ระยะเวลาคืนทุนลดลงจากราว 10.1 ปี ในกรณีที่ใช้แนวทางปรับอัตรารับซื้อไฟอย่างเดียว ไปสู่ระดับ 7.7 ปี ซึ่งน่าจะมีส่วนสร้างแรงดึงดูดให้ครัวเรือนสนใจลงทุนใช้งานโซลาร์รูฟท็อปมากขึ้น 
 
solar-meter  
 

    สรุป

          สำหรับในระยะยาว เพื่อส่งเสริมให้เกิดการใช้ โซลาร์รูฟท็อป ในวงกว้างมากขึ้น ภาครัฐอาจจำเป็นต้องปรับปรุงกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการซื้อขายไฟฟ้า เพื่อเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนสามารถขายไฟให้แก่ภาคครัวเรือนได้ โดยจะก่อให้เกิดธุรกิจที่เอกชนเป็นผู้ลงทุนโซลาร์รูฟท็อปและขายไฟให้แก่ครัวเรือนในราคาที่ย่อมเยา ซึ่งจะช่วยลดภาระการลงทุนของภาคครัวเรือน คล้ายคลึงกับธุรกิจขายไฟระหว่างเอกชนที่กระทำได้ในปัจจุบัน ทั้งนี้ การลงทุนดังกล่าวหากดำเนินการพร้อมกันเป็นจำนวนมากโดยเอกชน จะก่อให้เกิดการประหยัดต้นทุน รวมทั้งสามารถออกแบบให้ระบบมีแบตเตอรี่เพื่อกักเก็บพลังงานไว้ใช้ในช่วงกลางคืนได้
 
 

 


Scan QR Code


QR Code

หมายเหตุ

รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น

Econ Digest