Display mode (Doesn't show in master page preview)

6 กรกฎาคม 2565

Econ Digest

นำเข้าไทย...รับอานิสงส์เยนอ่อนค่า โดยเฉพาะสินค้าขั้นกลางและสินค้าที่เอื้อประโยชน์ต่อผู้บริโภคไทย

คะแนนเฉลี่ย

​เงินเยนอ่อนค่าแตะสถิติต่ำสุดในรอบกว่า 24 ปี ที่ 136.24 เยนต่อดอลลาร์ฯ (22 มิ.ย. 2565) ลดลงราว 17.1% จากต้นปี 2565 โดยค่าเงินเยนอ่อนค่ามากที่สุดในบรรดาสกุลเงินหลักของโลกและยังมีสัญญาณอ่อนค่าต่อเนื่องตลอดปี ซึ่งการอ่อนค่าของเงินเยนทำให้ญี่ปุ่นต้องนำเข้าสินค้าในราคาที่สูงขึ้นตลอดปีนี้ และกระทบโดยตรงต่อประเทศคู่ค้ารวมถึงไทย ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า เมื่อเทียบกับคู่ค้าอื่นในเอเชีย พบว่าไทยเป็นประเทศที่ได้รับผลกระทบไม่มากนักด้วยข้อได้เปรียบด้านโครงสร้างการค้าที่ญี่ปุ่นยังต้องพึ่งพาสินค้าบริโภคและสินค้าเพื่อการผลิตที่จำเป็นจากไทยถึงกว่า 80% สำหรับสินค้าฟุ่มเฟือยที่ผู้บริโภคอาจชะลอการซื้อออกไปมีเพียง 20%


ในขณะที่การนำเข้าของไทยจากญี่ปุ่นได้อานิสงส์ต้นทุนต่ำจากเงินเยนอ่อนค่า ผู้ประกอบการไทยสามารถซื้อวัตถุดิบและสินค้าทุนจากญี่ปุ่นในราคาที่ต่ำลง ไทยพึ่งพาการนำเข้าสินค้าจากญี่ปุ่นมากถึง 11.7% ของการนำเข้าทั้งหมด เป็นแหล่งนำเข้าลำดับ 2 ของไทย การนำเข้าของไทยจากญี่ปุ่นที่จะได้ประโยชน์กระจุกตัวในสินค้าขั้นกลางเป็นส่วนใหญ่ ได้แก่ เคมีภัณฑ์ เครื่องจักรกล เครื่องจักรไฟฟ้า แผงวงจรไฟฟ้า เหล็กและผลิตภัณฑ์ อุปกรณ์ยานยนต์ เครื่องมือทางการแพทย์ ผลิตภัณฑ์จากพลาสติก ไดโอด วงจรพิมพ์ ส่วนประกอบรถจักรยานยนต์ ขณะที่สินค้าที่เอื้อประโยชน์ต่อผู้บริโภคไทย ได้แก่ รถยนต์นั่ง นาฬิกา เครื่องสำอาง อุปกรณ์สำนักงาน และกล้อง  


ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า การส่งออกของไทยปีนี้ได้รับผลกระทบทางตรงค่อนข้างจำกัด โดยไทยสูญเสียโอกาสการส่งออกไปญี่ปุ่นคิดเป็นมูลค่า 500-800 ล้านดอลลาร์ฯ ทำให้การส่งออกของไทยในช่วงเหลือปีนี้ชะลอตัวลงบวกกับผลของฐานที่สูงอาจฉุดส่งออกไทยไปญี่ปุ่นตลอดปี 2565 หดตัวที่ (-) 0.6% มูลค่าส่งออก 24,800 ล้านดอลลาร์ฯ ขณะที่การนำเข้าของไทยได้อานิสงส์ทางอ้อมจากการนำเข้าสินค้าปัจจัยการผลิตจากญี่ปุ่นที่มีราคาต่ำลงโดยเปรียบเทียบ แต่ด้วยฐานที่สูงมากในปีก่อนทำให้ทั้งปี 2565 เติบโตเพียง 0.4% มีมูลค่า 35,800 ล้านดอลลาร์ฯ โดยสุทธิไทยยังคงขาดดุลการค้ากับญี่ปุ่นอยู่ที่ราว 1.0 หมื่นล้านดอลลาร์ฯ ทั้งนี้ ผลกระทบดังกล่าวขึ้นอยู่กับสกุลเงินที่ใช้ชำระค่าสินค้าระหว่างไทย-ญี่ปุ่นด้วย ซึ่งราวครึ่งหนึ่งของการนำเข้าส่งออกยังคงชำระด้วยสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯ

Scan QR Code


QR Code

หมายเหตุ

รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น

Econ Digest