Display mode (Doesn't show in master page preview)

16 กุมภาพันธ์ 2564

Econ Digest

ดอกเบี้ยนโยบายต่ำใกล้ 0% QE* จะมาหรือไม่?

คะแนนเฉลี่ย

มาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) เป็นเครื่องมือนโยบายการเงินแบบพิเศษ ซึ่งธนาคารกลางหลายประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา ยุโรป อังกฤษ ญี่ปุ่น นำมาใช้เพื่อช่วยรับมือกับปัญหาเศรษฐกิจ หลังจากปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงใกล้ระดับ 0% โดยแต่ละธนาคารกลาง ใช้รูปแบบและขนาดของการเข้าซื้อสินทรัพย์ทางการเงินภายใต้มาตรการ QE แตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับลักษณะขอบเขตของปัญหา และบริบทของระบบเศรษฐกิจการเงินในแต่ละประเทศ

สำหรับไทย ซึ่งอัตราดอกเบี้ยนโยบายขณะนี้อยู่ที่ 0.5% ทำให้พื้นที่สำหรับปรับลดอัตราดอกเบี้ยฯ  เหลืออีกไม่มาก ขณะที่การฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ยังมีความไม่แน่นอนและต้องใช้เวลา เท่ากับว่า มาตรการผ่อนคลายทางการเงินและการคลัง ยังคงมีบทบาทสำคัญ ที่จะช่วยลดทอนผลกระทบจากปัญหาเศรษฐกิจ และสนับสนุนให้กลไกการทำงานของเศรษฐกิจ ทยอยฟื้นตัวกลับเข้าสู่ภาวะปกติ ดังนั้น อาจมีความจำเป็นที่ทางการไทยต้องมองหาเครื่องมือทางการเงินอื่นๆ มาช่วยเสริมกลไกการทำงานของนโยบายการเงินเพิ่มเติม

หากประเมินเฉพาะในส่วนของมาตรการซื้อสินทรัพย์  ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มีข้อสังเกตว่า ในมิติทางกฎหมาย มาตรการซื้อสินทรัพย์หรือการทำ QE อาจสามารถเกิดขึ้นได้ในไทย แต่จะต้องมีการสื่อสารถึงเหตุผลความจำเป็น ตลอดจนรายละเอียดของมาตรการอย่างชัดเจนต่อสาธารณะ และจะต้องคำนึงถึงความเหมาะสม กับบริบทของระบบเศรษฐกิจการเงินไทย โดยเฉพาะประเด็นด้านความเชื่อมั่นและเสถียรภาพของค่าเงินบาท นอกจากนี้ QE อาจยังเป็นคำตอบที่ไม่ตรงกับโจทย์ปัญหาของภาคธุรกิจและเศรษฐกิจไทยในเวลานี้ เพราะปัญหาอาจไม่ได้อยู่ที่ระดับสภาพคล่องของระบบการเงิน แต่อยู่ที่การกระจายสภาพคล่องอย่างเหมาะสม และทันสถานการณ์ ไปยังภาคส่วนที่มีความต้องการ ซึ่งปัจจุบันมีปัญหาการขาดรายได้และความเสี่ยงด้านเครดิตสูงกว่าปกติ

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า แม้การทำ QE อาจช่วยกดต้นทุนการกู้ยืมผ่านตลาดเงินให้อยู่ในระดับต่ำต่อเนื่อง แต่ก็ไม่ได้มีผลโดยตรงให้สถาบันการเงินปล่อยกู้ให้กับลูกค้า เนื่องจากต้อง
พิจารณาความเสี่ยงด้านเครดิตและแนวโน้มเศรษฐกิจ-ธุรกิจ รวมถึงดูแลประเด็นคุณภาพหนี้ควบคู่ไปด้วย สำหรับประเทศไทยที่มีลักษณะเป็น Bank-based economy การใช้กลไกช่วยเหลือด้านสภาพคล่องและมาตรการด้านสินเชื่ออื่นๆ ที่มาควบคู่กับการใช้เครื่องมือหรือกลไกลดความเสี่ยงด้านเครดิตของลูกค้า เพื่อให้เข้าถึงสินเชื่อในระบบได้ดีขึ้น จึงน่าจะให้ประสิทธิผลที่ดีกว่า​

Scan QR Code


QR Code

หมายเหตุ

รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น

Econ Digest