Display mode (Doesn't show in master page preview)

20 พฤศจิกายน 2560

การค้า

มิติใหม่การเจรจาทวิภาคีกับสหรัฐฯ ... พลิกยุทธศาสตร์การค้าไทย (กระแสทรรศน์ ฉบับที่ 2881)

คะแนนเฉลี่ย
​มิติใหม่การเจรจาทวิภาคีกับสหรัฐฯ เริ่มขึ้นแล้ว หลังจากการเยือนเอเชียครั้งประวัติศาสตร์ของนายโดนัลด์ ทรัมป์ เมื่อวันที่ 5-14 พฤศจิกายน 2560 โดยเป็นการมุ่งผลักดันความสัมพันธ์แบบทวิภาคีที่ครอบคลุมในทุกมิติที่สหรัฐฯ มีศักยภาพ ทั้งด้านเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน ตลอดจนลงประเด็นความมั่นคงของประเทศ ซึ่งสวนกระแสการค้าแบบพหุภาคีที่ทั่วโลกได้ก้าวเดินในเส้นทางนี้มาโดยตลอด 

โดยยุทธศาสตร์ในเบื้องลึกของสหรัฐฯ ก็เพื่อให้ทุกย่างก้าวของเอเชียตระหนักถึงผลประโยชน์ที่จะมอบกลับคืนให้แก่สหรัฐฯ ทั้งผลดีที่เกิดต่อธุรกิจสหรัฐฯ ในเอเชียและธุรกิจในสหรัฐฯ ซึ่งแน่นอนว่าเอเชียก็คงเดินตามท่าทีดังกล่าวแต่ก็ต้องมีความรอบคอบในการเจรจาด้านต่างๆ 

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ความสัมพันธ์ทวิภาคีในรูปแบบของทรัมป์นั้นค่อนข้างพิเศษ ซึ่งน่าจะพัฒนาจากแนวคิดผสมผสานทั้ง “การค้าอย่างเสรี เป็นธรรม และต่างตอบแทน” และ “อเมริกาต้องมาก่อน” ที่จะเป็นหัวใจหลักของการเจรจา โดยอาจเริ่มจากความตกลงที่ไม่เป็นลายลักษณ์อักษรในการซื้อ-ขายสินค้าระหว่างกัน จากนั้นจึงค่อยๆ ขยายความสัมพันธ์ด้านต่างๆ ที่อาจนำไปสู่ความร่วมมือทางเศรษฐกิจ หรือข้อตกลงทางการค้าที่อาจไม่ใช้คำเรียกว่า FTA เช่นในอดีต 

ดังนั้น การปรับยุทธศาสตร์การค้าของไทยเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนสู่อีกมิติของการเจรจาทวิภาคีที่มีผู้เล่นหลักเป็นสหรัฐฯ โดย
  1. ไทยต้องทำความเข้าใจมุมมองเชิงยุทธศาสตร์ที่สหรัฐฯ มีต่อไทย เพื่อกำหนดกลุ่มสินค้า บริการ และเงื่อนไขในการเจรจาที่ยอมรับร่วมกัน
  2. ติดตามยุทธศาสตร์ทวิภาคีระหว่างสหรัฐฯ กับนานาประเทศที่อาจส่งผลต่อห่วงโซ่อุปทานของสินค้าและการส่งออกของไทย ดังเช่นกรณีที่สหรัฐฯ เชิญชวนนักลงทุนญี่ปุ่นจะไปขยายฐานการผลิตในสหรัฐฯ
  3. ไทยควรมียุทธศาสตร์ในหลายๆ มิติ เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการเจรจากับสหรัฐฯ โดยเฉพาะยุทธศาสตร์ด้านการค้าสินค้าที่สะดวกต่อการใช้สานสัมพันธ์ทวิภาคี และยุทธศาสตร์ด้านการบริการที่ค่อนข้างอ่อนไหวต่อธุรกิจไทยก็อาจใช้วิธีการแลกด้วยการเปิดตลาดสินค้าเข้ามาทดแทน หรือเป็นการเปิดโดยการจำกัดสัดส่วนการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติและระบุขอบเขตการทำธุรกิจให้ชัดเจนลงในสาขาย่อยของธุรกิจ 
โดยสรุป สหรัฐฯ ก็ยังเป็นตลาดที่ช่วยขับเคลื่อนการส่งออกของไทย ซึ่งธุรกิจไทยคงต้องเดินหน้าสร้างกลยุทธ์ในการขยายโอกาสทางการค้าเป็นรายตลาด โดยปรับจากการอาศัยสิทธิพิเศษทางการค้ามาเน้นน้ำหนักไปที่ความเข้าใจพฤติกรรมความต้องการของตลาดยุคใหม่ และการแข่งขันในตัวผลิตภัณฑ์ในประเทศที่ต้องการขยายตลาดโดยตรง รวมทั้งการขยายฐานการผลิตไปยังประเทศที่เป็นตลาดเป้าหมายก็เป็นเรื่องที่ควรให้ความสำคัญอย่างจริงจัง ซึ่งน่าจะเอื้อประโยชน์ต่อธุรกิจไทยในระยะยาว​

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


การค้า