ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ราคายางพาราจะได้รับแรงหนุนจากปัจจัยเชิงบวกในช่วงไตรมาสแรกของปี 2561 ให้ราคากระเตื้องขึ้นได้จากราคาในปัจจุบัน จากแรงผลักดันสำคัญอย่างแนวโน้มความต้องการใช้ยางในจีนเพื่อผลิตรถยนต์ และความต้องการในมาเลเซียเพื่อผลิตถุงมือยางทางการแพทย์ที่จะมีการผลิตจำนวนมากในช่วงไตรมาสแรกตามปัจจัยฤดูกาล ตลอดจนมาตรการกระตุ้นการใช้ยางในประเทศผ่านโครงการต่างๆ ของภาครัฐ อย่างไรก็ดี ราคายางอาจมีแนวโน้มเผชิญความท้าทายตั้งแต่ช่วงไตรมาสที่สอง และโดยเฉพาะในช่วงปลายปี 2561 ที่จะมีอุปทานยางของไทยออกสู่ตลาดจำนวนมาก รวมถึงแนวโน้มภาพรวมเศรษฐกิจจีนปี 2561 ที่อาจขยายตัวชะลอลงเล็กน้อยจากปีก่อน
ดังนั้น จึงนับเป็นโจทย์ท้าทายของภาครัฐในการประคับประคองสถานการณ์ราคายางพาราผ่านมาตรการต่างๆ ที่จะเข้ามาช่วยเหลือชาวสวนยางโดยเฉพาะในช่วงไตรมาสที่ 2-4 ของปี 2561 และเพื่อเป็นการเตรียมรับมือกับแนวโน้มราคายางในปี 2561 จากการที่ต้องเผชิญปัจจัยท้าทาย เกษตรกรชาวสวนยางจึงควรปรับตัวด้วยการปลูกพืชอื่นที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่า หรือปลูกพืชแซมในสวนยาง และควรหารายได้เสริมอื่นควบคู่ไปด้วย อีกทั้งการควบคุมอุปทานยางพาราในประเทศเพื่อให้สมดุลกับความต้องการใช้ ตลอดจนการสร้างนวัตกรรมให้กับยางพาราเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ยางพารา นอกจากนี้ แนวโน้มการลงทุนโรงงานผลิตยางรถยนต์ในประเทศที่เพิ่มขึ้น ก็นับเป็นปัจจัยผลักดันสำคัญที่จะช่วยหนุนให้ราคายางมีเสถียรภาพได้ในระยะยาว
หมายเหตุ
รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น