ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า แนวโน้มราคาสินค้าเกษตรหลักในปี 2561 จะให้ภาพที่ปะปนกัน โดยบางรายการอาจมีราคากระเตื้องขึ้นอย่างข้าวและมันสำปะหลังที่น่าจะพลิกกลับมาขยายตัวในแดนบวกเมื่อเทียบกับปีก่อนที่ร้อยละ 2.0 และ 21.4 (YoY) ตามลำดับ จากความต้องการที่มีรองรับ ส่วนรายการที่ราคาอาจอ่อนตัวลงเมื่อเทียบกับปีก่อนคือ ยางพาราและปาล์มน้ำมัน ที่ราคาน่าจะปรับตัวลดลงร้อยละ 20.0 และ 7.3 (YoY) ตามลำดับ จากการเผชิญปัญหาด้านสต๊อกทั้งในและต่างประเทศที่อยู่ในระดับสูง รวมถึงอ้อย ที่ราคาอาจปรับตัวลดลงร้อยละ 16.2 (YoY) ที่ถูกกดดันด้านผลผลิตที่อยู่ในระดับสูงจากสถานการณ์น้ำที่ดีขึ้น
ทั้งนี้ ในช่วงที่เหลือของปี ยังคงต้องติดตามมาตรการภาครัฐในการเข้ามาช่วยเหลือเกษตรกรด้วยการออกมาตรการต่างๆ เพื่อพยุงราคาสินค้าเกษตรเพิ่มเติมจากปัจจุบันที่ได้ดำเนินการไปบ้างแล้ว ทั้งมาตรการระยะสั้น เช่น โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือก การเพิ่มปริมาณการใช้ยางในประเทศ และมาตรการระยะยาวอย่างการจัดโซนนิ่ง การเน้นการปลูกพืชที่สร้างมูลค่าเพิ่ม เช่น ข้าวอินทรีย์ เป็นต้น นอกจากนี้ การดำเนินนโยบายเพื่อดูแลราคาในประเทศอย่างยั่งยืน จะต้องคำนึงถึงผลกระทบต่อทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องในสายการผลิตอย่างรอบด้าน รวมถึงในส่วนของตัวเกษตรกรเองก็ควรต้องมีการปรับตัวเพื่อสร้างรายได้เสริมเช่นกัน
หมายเหตุ
รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น