Display mode (Doesn't show in master page preview)

29 ธันวาคม 2560

อุตสาหกรรม

ตลาดโทรคมนาคมไร้สายปี'61 เติบโตราวร้อยละ 5.9 มีทิศทางการเติบโตที่ชะลอลงจากการแข่งขันที่เข้มข้นในตลาด (กระแสทรรศน์ ฉบับที่ 2892)

คะแนนเฉลี่ย
          ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ภาพรวมตลาดโทรคมนาคมแบบไร้สายของไทยในปี 2561 ยังคงมีทิศทางการเติบโตที่ชะลอตัวลงจากปีก่อน อันเนื่องมาจากสภาวะการแข่งขันที่เข้มข้นในตลาด โดยเฉพาะการแข่งขันในด้านราคาสำหรับการใช้บริการสื่อสารข้อมูล (Data) ต่อเมกะไบต์ที่มีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง ส่งผลให้รายได้จากการให้บริการสื่อสารข้อมูลมีแนวโน้มเติบโตที่ชะลอตัวลง ในขณะที่รายได้จากการให้บริการเสียง (Voice) ก็ยังคงหดตัวอย่างต่อเนื่องจากการที่ผู้บริโภคไทยส่วนใหญ่นิยมใช้สื่อออนไลน์ในการติดต่อสื่อสารระหว่างกันแทนการโทร ซึ่งเป็นเทรนด์ต่อเนื่องมาตั้งแต่ยุค 3G ในปี 2556 ขณะเดียวกัน กลุ่มผู้ประกอบการยังคงต้องเผชิญกับความท้าทายด้านการบริหารต้นทุนค่อนข้างมาก โดยเฉพาะต้นทุนค่าใบอนุญาตประกอบกิจการ ต้นทุนการขยายโครงข่าย 4G อีกทั้ง ยังต้องเตรียมความพร้อมสำหรับการประมูลคลื่น 900 MHz และ 1800 MHz ในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปี 2561 อีกด้วย

           จากภาพรวมตลาดที่ยังคงมีสภาวะการแข่งขันที่เข้มข้นต่อเนื่องนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ตลาดโทรคมนาคมแบบไร้สายโดยรวมในปี 2561 น่าจะมีทิศทางการขยายตัวที่ชะลอตัวลง โดยคาดว่า น่าจะมีมูลค่าอยู่ประมาณ 253,930 – 259,580 ล้านบาท ขยายตัวในกรอบร้อยละ 4.7 – 7.1 จากปี 2560 (ค่ากลางอยู่ที่ร้อยละ 5.9) โดยน่าจะได้รับแรงหนุนหลักมาจากการทำการตลาดของกลุ่มผู้ประกอบการที่ผลักดันให้มีผู้ใช้งานแบบรายเดือนเพิ่มขึ้น ห​รือการผลักดันให้ผู้ใช้รายเดือนเดิมเปลี่ยนแพ็กเกจมาอยู่ในระดับราคาที่สูงขึ้น โดยมีแรงจูงใจจากการให้ใช้โมบายอินเทอร์เน็ตในปริมาณมากขึ้น รวมถึงพฤติกรรมของผู้บริโภคไทยที่ยังคงนิยมใช้โมบายบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ต ทำให้มูลค่าตลาดบริการสื่อสารข้อมูลยังคงขยายตัวต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี การเติบโตของตลาดบริการสื่อสารข้อมูลดังกล่าวน่าจะมีแนวโน้มการเติบโตที่ชะลอตัวลง โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ในปี 2561 มูลค่าตลาดบริการสื่อสารข้อมูลในไทยน่าจะอยู่ที่ประมาณ 186,660 – 190,490 ล้านบาท มีอัตราการเติบโตอยู่ในกรอบราวร้อยละ 14.7 – 17.1 ชะลอตัวลงจากปี 2560 ที่คาดว่าจะขยายตัวอยู่ราวร้อยละ 21.8 เนื่องจากอัตราค่าบริการที่ถูกลงจากการแข่งขันที่เข้มข้นในตลาด  

           สำหรับตลาดด้านการให้บริการเสียงในปี 2561 ก็ยังคงหดตัวอย่างต่อเนื่อง โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า มูลค่าตลาดด้านการให้บริการเสียงจะมีมูลค่าอยู่ราว 67,270 – 69,090 ล้านบาท หดตัวราวร้อยละ 13.3 – 15.6 จากปี 2560 อย่างไรก็ดี การหดตัวดังกล่าวเป็นการหดตัวน้อยลงเมื่อเทียบกับปี 2560 ที่คาดว่าจะหดตัวราวร้อยละ 16.1 เพราะมีกลุ่มผู้ใช้บริการแบบเติมเงินย้ายมาใช้บริการแบบรายเดือนเพิ่มขึ้นอันเนื่องจากการทำการตลาดที่เข้มข้นของผู้ประกอบการ​

อุตสาหกรรม