หลังจากที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ผ่อนคลายกฎเกณฑ์การเคลื่อนย้ายเงินทุนระหว่างประเทศอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี 2550 เป็นต้นมา จนถึงปัจจุบัน ที่อนุญาตให้นักลงทุนภายใต้การกำกับดูแลของทางสำนักงาน ก.ล.ต. สามารถลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศได้ภายในวงเงิน 50,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ นั้น จะเห็นได้ว่า มูลค่าเงินลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศได้ทยอยเพิ่มขึ้นตามลำดับ จนมาอยู่ที่ 20,629 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ณ เดือน พ.ค. 2555 โดยเม็ดเงินลงทุนดังกล่าว มาจากการลงทุนผ่านกองทุนรวม เป็นหลัก ด้วยสัดส่วนเฉลี่ยในช่วงปี 2552-เดือน พ.ค. 2555 กว่าร้อยละ 95 ของเงินลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศทั้งหมด ขณะที่การตอบรับของ นักลงทุนกองทุนส่วนบุคคลและรายย่อยผ่านบริษัทหลักทรัพย์นั้น ยังคงมีไม่มากนัก เนื่องจากยังคงติดข้อจำกัดสำหรับวงเงินลงทุนของทางการไทย รวมถึงสภาพแวดล้อมการลงทุนในต่างประเทศที่ไม่เอื้ออำนวย
มองไปข้างหน้า ท่ามกลางการหาผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์การลงทุนของกองทุนรวมที่ยังประคับประคองไปได้และความต้องการลงทุนที่ชัดเจนขึ้นของนักลงทุนฝั่งกองทุนส่วนบุคคลและรายย่อยผ่านบริษัทหลักทรัพย์ ประกอบกับแรงผลักดันของทางการไทยทั้งในด้านขยายวงเงินและตราสารที่เปิดกว้างขึ้นของ ธปท. และการเชื่อมโยงของตลาดหลักทรัพย์ฯ ภายในภูมิภาคอาเซียนของ ตลท. (ภายใต้โครงการ ASEAN Exchanged Linkage) ควบคู่กับพฤติกรรมการลงทุนที่เปลี่ยนแปลงไปของนักลงทุนนั้น ทำให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า เม็ดเงินลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศยังคงมีโอกาสเติบโตได้มากขึ้น
อย่างไรก็ดี เม็ดเงินขาออกนั้นจะประสบความสำเร็จเพียงไร คงต้องขึ้นอยู่กับตัวแปรด้านสภาพเศรษฐกิจต่างประเทศซึ่งจะมีอิทธิพลต่อความน่าจูงใจในการลงทุนไปยังประเทศต่างๆ รวมทั้งบุคลากรที่ติดต่อกับลูกค้าและบริษัทหลักทรัพย์ว่าจะสามารถให้คำแนะนำและข้อมูลแก่นักลงทุน รวมถึงบทวิจัยที่ครอบคลุมหลักทรัพย์ต่างประเทศได้มากขึ้นอย่างมีประสิทธิภาพเพียงใด นอกจากการเพิ่มความรู้ความเข้าใจทางการเงินให้แก่นักลงทุนเพื่อเพิ่มจำนวนนักลงทุนที่มีศักยภาพ ซึ่งคาดว่าคงอยู่ในแนวทางที่ทางการไทยและภาคเอกชนกำลังเดินหน้าพัฒนาและส่งเสริมความเข้าใจเกี่ยวกับทางเลือกการลงทุนให้แก่นักลงทุนมากขึ้นควบคู่กันไปเช่นกัน
หมายเหตุ
รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น