Display mode (Doesn't show in master page preview)

5 พฤศจิกายน 2555

ตลาดการเงิน

ความผันผวนของเงินลงทุนในหลักทรัพย์ ยังคงเป็นโจทย์เฉพาะหน้า...แต่เงินลงทุนโดยตรง เป็นประเด็นระยะยาวที่ต้องติดตาม (มองเศรษฐกิจฉบับที่ 3374)

คะแนนเฉลี่ย

จากทิศทางของเงินสำรองระหว่างประเทศที่เพิ่มขึ้นในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ได้สะท้อนถึงเม็ดเงินที่ไหลเข้าสุทธิสู่ไทยอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะมาจากดุลบัญชีเดินสะพัด เป็นหลัก อย่างไรก็ดี คงต้องยอมรับว่า กระแสเงินทุนเคลื่อนย้ายสุทธิได้เริ่มทยอยมีบทบาทเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะบทบาทของเงินทุนเคลื่อนย้ายจากการลงทุนในหลักทรัพย์ ซึ่งอาจส่งผลต่อความผันผวนในตลาดการเงินไทยได้ หากนักลงทุนต่างชาติมีการปรับพอร์ตการลงทุนพร้อมกัน ส่งผลให้ทางการคงยังจำเป็นต้องติดตามและดูแลผลกระทบจากประเด็นนี้อย่างใกล้ชิดต่อไป

อย่างไรก็ดี ทางศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า โจทย์ที่ท้าทายในระยะถัดไปต่อจากนี้ และต่อเนื่องในช่วงระยะยาวนั้น คงเป็นประเด็นด้านการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างของเงินทุนเคลื่อนย้าย โดยประเมินว่า ในระยะถัดจากนี้ เงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศที่ไหลเข้าสู่ไทยอาจไม่ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างที่ผ่านมา ซึ่งแนวโน้มดังกล่าว อาจมีผลผูกพันไปถึงแนวโน้มการส่งออกของไทยที่ปัจจุบันยังคงพึ่งพิง FDI อยู่ค่อนข้างสูง ขณะที่การลงทุนโดยตรงของไทยในต่างประเทศที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น จากอานิสงส์ของกระแส AEC และเกณฑ์เงินทุนเคลื่อนย้ายที่ได้รับการผ่อนคลายจากทางการมากขึ้น (แม้การนำรายได้/กำไรกลับประเทศของภาคธุรกิจอาจทำให้มีเม็ดเงินไหลเข้ามาชดเชยในบางส่วน) ประกอบกับนโยบายภาครัฐที่หันมาเน้นการใช้จ่ายภายในประเทศในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ อันอาจมีผลให้ฐานะดุลบัญชีเดินสะพัดบันทึกยอดเกินดุลที่บางลงตามลำดับ ดังนั้น ทางการไทยคงต้องหันมาให้ความสนใจและตระหนักมากขึ้นถึงประเด็นนี้ เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างด้านเงินทุนเคลื่อนย้ายดังกล่าวอาจส่งผลให้ฐานะทุนสำรองระหว่างประเทศของไทยไม่ได้เพิ่มสูงขึ้นอย่างเช่นในช่วงที่ผ่านมา และท้ายสุดแล้วไทยอาจเปลี่ยนสถานะจากประเทศที่เป็นผู้รับเงินลงทุน มาเป็นประเทศผู้ลงทุนได้ในอนาคต

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


ตลาดการเงิน