Display mode (Doesn't show in master page preview)

27 ธันวาคม 2549

ตลาดการเงิน

เปิดเสรีธุรกิจหลักทรัพย์ : รายใหญ่ต้องเร่งปรับตัว...รายเล็กกระทบหนัก (กระแสทรรศน์ ฉบับที่ 1934)

คะแนนเฉลี่ย
ในที่ประชุมคณะกรรมการ ก.ล.ต.เมื่อต้นเดือน พฤศจิกายน ที่ผ่านมานั้น ได้มีมติ
ให้มีการเปิดเสรีใบอนุญาตธุรกิจหลักทรัพย์ในเวลาอีก 5 ปีข้างหน้า โดยจะเปิดให้ใบอนุญาตใหม่กับผู้ที่ต้องการจะเข้ามาทำธุรกิจหลักทรัพย์โดยไม่มีการจำกัดจำนวนหลังจากวันที่ 1 มกราคม 2555 ซึ่งผู้มีสิทธิขอใบอนุญาตและผู้บริหารจะต้องผ่านเกณฑ์ความพร้อมในการประกอบธุรกิจ (fit and proper) เป็นหลัก เพื่อสนับสนุนให้ธุรกิจมีการเเข่งขันกันมากขึ้น พร้อมเป็นการกระตุ้นให้ผู้ประกอบการมองหาธุรกิจใหม่ๆ พร้อมกับปรับปรุงคุณภาพและวิธีการให้บริการมากขึ้น นอกจากนั้น ยังได้มีมติให้ มีการปรับปรุงลักษณะของใบอนุญาตใหม่จากในปัจจุบันที่เป็นเเบบการเเยกให้ใบอนุญาตเป็นรายธุรกิจ ไปเป็นเเบบ Single license ซึ่งครอบคลุมทุกประเภท และเเบบเฉพาะด้าน หรือ Boutique license เพื่อเปิดโอกาสให้บริษัทหลักทรัพย์มีความยืดหยุ่นในการให้บริการ โดยสามารถทำธุรกิจได้หลากหลายรูปเเบบ และครอบคลุมหลักทรัพย์หลายประเภท และเพื่อเป็นการช่วยบริษัทในการเพิ่มช่องทางการกระจายรายได้ในการดำเนินธุรกิจ ก่อนที่จะให้มีการเปิดเสรีค่าธรรมเนียมการซื้อขายนับตั้งแต่ 1 มกราคม 2555 เป็นต้นไป และเพื่อเป็นการรองรับโอกาสในการทำธุรกิจในต่างประเทศในอนาคต โดยทาง ก.ล.ต.กำลังอยู่ระหว่างการเตรียมเสนอมาตรการดังกล่าวและกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องไปยังกระทรวงการคลัง ทำให้ในช่วงเวลาจากนี้ไปจนถึงอีก 5 ปีข้างหน้าเป็นช่วงเวลาของการปรับตัวสำหรับครั้งใหญ่สำหรับบริษัทหลักทรัพย์ที่มีอยู่ในปัจจุบัน ทั้งนี้ มองว่า ภายใต้โครงสร้างใบอนุญาตที่มีอยู่ในปัจจุบันค่อนข้างเปิดโอกาสให้บริษัทหลักทรัพย์ต่างๆสามารถดำเนินธุรกิจหลักทรัพย์ได้ครอบคลุมเกือบทุกประเภทอยู่แล้ว ยกเว้นแต่ธุรกิจจัดการกองทุนรวม การจัดการเงินร่วมลงทุน ที่จะต้องมีการจัดตั้งบริษัทขึ้นมาใหม่ โดยกลุ่มบริษัทหลักทรัพย์ที่คาดว่าน่าจะได้รับผลกระทบจากการแข่งขันมากคงจะได้แก่ กลุ่มที่มีผู้ลงทุนรายย่อยเป็นผู้ถือหุ้นส่วนมาก (ซึ่งไม่มีธนาคารพาณิชย์หรือกลุ่มธุรกิจการเงิน เช่น บริษัทเงินทุน บริษัทหลักทรัพย์ต่างชาติ บริษัทโฮลดิ้งส์ คอมปะนีของไทยและต่างชาติ เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่) และเป็นบริษัทขนาดเล็กที่มีขนาดของทุนจดทะเบียนต่ำกว่าเกณฑ์ใหม่ หรือไม่เกิน 500 ล้านบาท และมีสัดส่วนรายได้ที่ต้องพึ่งพิงค่าธรรมเนียมการซื้อขายหลักทรัพย์ในระดับสูง เนื่องจากมองว่า บริษัทในกลุ่มดังกล่าวน่าจะเป็นกลุ่มที่มีความสามารถในการแข่งขันค่อนข้างน้อย จากการที่ขาดเครือข่ายทางธุรกิจมาช่วยสนับสนุนทั้งในเรื่องของช่องทางการขาย เงินลงทุน การประชาสัมพันธ์ เทคโนโลยีและการพัฒนาผลิตภัณฑ์การลงทุนในรูปแบบใหม่ๆ ในขณะที่การทำธุรกิจในอนาคตท่ามกลางการแข่งขันที่เพิ่มขึ้นจำเป็นที่จะต้องอาศัยฐานเงินทุนในระดับสูง และคงจะไม่สามารถพึ่งพิงรายได้จากค่าธรรมเนียมเป็นหลักเช่นในปัจจุบัน ทำให้บริษัทหลักทรัพย์ที่เข้าข่ายดังกล่าวมีความจำเป็นที่จะต้องแสวงหาพันธมิตรในการทำธุรกิจ พัฒนาธุรกิจอื่นๆขึ้นมาเพิ่มเติม หรืออาจต้องควบรวมกิจการกันเองในที่สุด ทำให้จำนวนบริษัทหลักทรัพย์ที่มีอยู่ในปัจจุบันมีแนวโน้มที่จะลดจำนวนลง ขณะที่ผู้ประกอบการที่ยังคงอยู่ในตลาดจะมีขนาดใหญ่ขึ้น และมีการทำธุรกิจที่ครบวงจรมากขึ้น หรือมิฉะนั้น ก็จะต้องหันไปเสริมสร้างจุดขายเฉพาะด้านหรือสร้างความแตกต่างให้กับตนเองจากรายอื่นๆ ส่วนภาพรวมของธุรกิจหลักทรัพย์ในระยะยาวหลังการเปิดเสรีใบอนุญาตธุรกิจหลักทรัพย์นั้น การพิจารณาแนวโน้มการเเข่งขันของธุรกิจหลักทรัพย์ในระยะยาวคงจะขึ้นอยู่กับหลายปัจจัยด้วยกันนอกเหนือไปจากการเปิดเสรีใบอนุญาตของ ก.ล.ต. อาทิเช่น สภาพแวดล้อมในตลาดทุน การซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ขณะนั้น มาตรการต่างๆของรัฐบาล เช่น แนวโน้มการผ่อนคลายเกณฑ์การเปิดเสรีทางการเงิน โดยการอนุญาตให้มีการนำเงินไปลงทุนในต่างประเทศ หรือ การทำ Cross-border services เป็นต้น ทั้งนี้ มองว่าปัจจัยเหล่านี้จะเป็นส่วนหนึ่งที่จะเป็นตัวกำหนดการเข้ามาของผู้ประกอบการรายใหม่ ในธุรกิจนี้ในอนาคตว่าจะมีจำนวนมากน้อยเพียงใด ถึงแม้ว่าการเปิดเสรีใบอนุญาตธุรกิจหลักทรัพย์จะช่วยเพิ่มโอกาสในการเข้าสู่ธุรกิจหลักทรัพย์ได้ง่ายขึ้น และทำให้ต้นทุนในการขอใบอนุญาตลดลงเทียบกันกับในปัจจุบันที่บางธุรกิจซึ่งจำนวนใบอนุญาตมีอยู่จำกัด ทำให้ต้องซื้อใบอนุญาตจากผู้ประกอบการรายเดิมด้วยราคาที่สูง แต่การเเข่งขันที่เพิ่มขึ้นของธุรกิจหลักทรัพย์ และการที่ให้มีการเปิดเสรีค่าธรรมเนียมการซื้อขายอาจจะส่งผลให้ผลกำไรที่ผู้ประกอบการจะได้รับลดลงได้ในระยะต่อไป ซึ่งจะกระทบต่อความน่าสนใจในการเข้ามาทำธุรกิจสำหรับผู้ประกอบการรายใหม่ได้ อย่างไรก็ตาม ความเป็นไปได้ที่จะให้มีการผ่อนคลายเกณฑ์การลงทุนในต่างประเทศเพิ่มขึ้นในอนาคต เช่น การอนุญาตให้บริษัทหลักทรัพย์สามารถลงทุนในต่างประเทศได้ทั้งเพื่อตนเองและเพื่อบัญชีของลูกค้านั้น อาจจะเป็นการช่วยขยายช่องทางการทำธุรกิจของบริษัทหลักทรัพย์ ซึ่งอาจทำให้มีผู้ที่เล็งเห็นโอกาสทางธุรกิจที่เพิ่มขึ้นดังกล่าวเข้ามาจัดตั้งบริษัทหลักทรัพย์ในประเทศไทย โดยเฉพาะสถาบันการเงินต่างชาติซึ่งจะมีความชำนาญในเรื่องการลงทุนในต่างประเทศเป็นอย่างดี ซึ่งแนวโน้มดังกล่าวย่อมจะกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ถึงแม้ว่าผู้ประกอบการไทยดังกล่าวจะเป็นกลุ่มที่มีธนาคารพาณิชย์หรือกลุ่มธุรกิจการเงินในประเทศหนุนหลังอยู่ก็ตาม

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


ตลาดการเงิน