Display mode (Doesn't show in master page preview)

5 ตุลาคม 2550

ตลาดการเงิน

ธุรกิจหลักทรัพย์ไทย...เร่งปรับตัวหนักหลัง ครม.อนุมัติการเปิดเสรี (กระแสทรรศน์ ฉบับที่ 1995)

คะแนนเฉลี่ย
กล่าวโดยสรุปได้ว่า เมื่อวันที่ 25 กันยายน ที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงว่าด้วยการอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา แล้วดำเนินการต่อไป ซึ่งการอนุมัติร่างกฎกระทรวงดังกล่าวถือเป็นก้าวสำคัญในการนำไปสู่การเปิดเสรีธุรกิจหลักทรัพย์ในอนาคต หลังจากที่ประชุมคณะกรรมการ ก.ล.ต.เมื่อต้นเดือน พฤศจิกายน 2549 ได้ลงมติให้มีการเปิดเสรีใบอนุญาตธุรกิจหลักทรัพย์ในเวลาอีก 5 ปีข้างหน้า (ปี 2555) เมื่อพิจารณาจากปลายปีที่ผ่านมานั้น จะเห็นได้ว่าหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะทาง ก.ล.ต.เองก็ได้มีเตรียมความพร้อมในด้านต่างๆเพื่อสนับสนุนการปรับตัวของบริษัทหลักทรัพย์ในหลายๆด้าน โดยมีประเด็นสำคัญ เช่น การผ่อนคลายเกณฑ์การประกอบกิจการของบริษัทหลักทรัพย์ในด้านต่างๆ เช่นแนวคิดในการผ่อนคลายเกณฑ์การเปิดสาขา เช่น การเปิดสาขาในรูปแบบใดก็ได้ไม่ว่าจะเป็นสาขาเต็มรูปแบบหรือสาขาออนไลน์ การให้เปิดทำการนอกเวลาทำการปกติได้ การเพิ่มประเภทธุรกิจให้ดำเนินการ โดย ก.ล.ต. ได้อนุญาตให้บริษัทหลักทรัพย์ สามารถประกอบธุรกิจอื่นๆเพิ่มเติม อาทิเช่น ธุรกิจการซื้อขายสินค้าเกษตรล่วงหน้า เป็นต้น การสนับสนุนแนวทางในการลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศ ซึ่งจะเป็นการช่วยเพิ่มรายได้ในการลงทุนให้กับบริษัทหลักทรัพย์ที่ประสงค์จะลงทุนเพื่อบัญชีของบริษัท (Proprietary Trading) การสนับสนุนบทบาทของบริษัทหลักทรัพย์ในการส่งเสริมการกำกับดูแลกิจการที่ดี และ การสนับสนุนให้มีผลิตภัณฑ์ทางการเงินในรูปแบบใหม่ๆในตลาดทุนไทยเพิ่มขึ้น ไม่ว่าจะเป็น SET 50 Index Options หรือ ผลิตภัณฑ์อื่นๆที่คาดว่าจะทยอยเข้ามาทำการซื้อขายในลำดับถัดไป ซึ่งจะช่วยเป็นการเพิ่มรายได้ในการซื้อขาย
ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาในส่วนของบริษัทหลักทรัพย์เองจะเห็นได้ว่าในช่วงที่ผ่านมา ได้มีความพยายามปรับการดำเนินธุรกิจเพื่อเตรียมรับมือการสภาพการแข่งขันที่จะรุนแรงมากขึ้นในอนาคตในหลายๆด้านมากขึ้น อาทิเช่น การเพิ่มรายได้จากช่องทางอื่นๆมากขึ้น ซึ่งจะเห็นได้ชัดว่าสัดส่วนรายได้จากค่าธรรมเนียมการซื้อขายหลักทรัพย์ได้ปรับตัวลดลงตามลำดับ ในขณะเดียวกัน บริษัทหลักทรัพย์ได้พยายามเพิ่มรายได้จากการลงทุนเพื่อพอร์ตของตนเองเพิ่มขึ้น นอกจากเพิ่มการลงทุนเพื่อพอร์ตของตนเองแล้ว บริษัทหลักทรัพย์หลายแห่งได้หันมารุกธุรกิจการให้บริการที่ปรึกษาการลงทุน (Wealth management) และ การเข้าสู่ธุรกิจหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวมมากขึ้น ตลอดจน การแสวงหาพันธมิตรในการทำธุรกิจ ทั้ง พันธมิตรจากต่างประเทศ โดยเฉพาะการทำสัญญาการเป็นนายหน้าหรือตัวแทนซื้อขายหลักทรัพย์จดทะเบียนในลักษณะคู่ค้า (Exclusive Partner) ให้กับบริษัทหลักทรัพย์ต่างประเทศ และ การอาศัยจุดแข็งในการเป็นเครือข่ายธุรกิจการเงินกลุ่มเดียวกันมากขึ้น ในกรณีของบริษัทหลักทรัพย์ที่ถือหุ้นโดยธนาคารพาณิชย์
เมื่อพิจารณาส่วนแบ่งการตลาดในช่วงที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่า กลุ่มบริษัทหลักทรัพย์ที่มีผู้ลงทุนรายย่อยเป็นผู้ถือหุ้นส่วนมากจะเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากการแข่งขันมากที่สุด ซึ่งคาดว่ามีแนวโน้มที่ส่วนแบ่งการตลาดของกลุ่มดังกล่าวนี้คงจะเริ่มปรับตัวลดลงมากขึ้นในอนาคต ทำให้บริษัทหลักทรัพย์รายย่อยที่เข้าข่ายดังกล่าวมีความจำเป็นที่จะต้องแสวงหาพันธมิตรในการทำธุรกิจ พัฒนาธุรกิจอื่นๆขึ้นมาเพิ่มเติม หรืออาจต้องควบรวมกิจการกันเองในที่สุด ทั้งนี้ คาดว่าแนวโน้มการควบรวมกิจการในธุรกิจหลักทรัพย์คงจะเริ่มปรากฏให้เห็นอย่างชัดเจนขึ้นในอนาคตอันใกล้นี้ ทำให้จำนวนบริษัทหลักทรัพย์ที่มีอยู่ในปัจจุบันมีแนวโน้มที่จะลดจำนวนลง ขณะที่ผู้ประกอบการที่ยังคงอยู่ในตลาดจะมีขนาดใหญ่ขึ้น และมีการทำธุรกิจที่ครบวงจรมากขึ้น โดยได้แรงหนุนจากการที่ทางการได้เปิดโอกาสให้สามารถขอใบอนุญาตในส่วนที่ยังขาดอยู่ได้โดยสะดวกขึ้นหลังจากที่กฎกระทรวงมีผลบังคับใช้ และมีการอาศัยช่องทางการขายจากพันธมิตร หรือเครือข่ายทางธุรกิจมากขึ้น มิฉะนั้น บริษัทหลักทรัพย์เหล่านั้นจะต้องหันไปเสริมสร้างจุดขายเฉพาะด้านหรือสร้างความแตกต่างให้กับตนเอง
ส่วนภาพรวมของธุรกิจหลักทรัพย์ในระยะยาวหลังการเปิดเสรีใบอนุญาตธุรกิจหลักทรัพย์นั้น การพิจารณาแนวโน้มการเเข่งขันของธุรกิจหลักทรัพย์คงจะขึ้นอยู่กับหลายปัจจัยด้วยกัน นอกเหนือไปจากการเปิดเสรีใบอนุญาตของ ก.ล.ต. อาทิเช่น สภาพแวดล้อมในตลาดทุน การซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ขณะนั้น มาตรการต่างๆของรัฐบาล เช่น แนวโน้มการผ่อนคลายเกณฑ์การเปิดเสรีทางการเงิน โดยการอนุญาตให้มีการนำเงินไปลงทุนในต่างประเทศ หรือ การทำ Cross-border services เป็นต้น โดยมองว่าปัจจัยเหล่านี้จะเป็นส่วนหนึ่งที่จะเป็นตัวกำหนดการเข้ามาของผู้ประกอบการรายใหม่ในอนาคตว่าจะมีจำนวนมากน้อยเพียงใด อย่างไรก็ตาม ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า แม้การเปิดเสรีใบอนุญาตธุรกิจหลักทรัพย์จะช่วยเพิ่มโอกาสในการเข้าสู่ธุรกิจหลักทรัพย์ได้ง่ายขึ้น และทำให้ต้นทุนในการขอใบอนุญาตลดลงเทียบกันกับในปัจจุบัน ประกอบกับ การคลายเกณฑ์การลงทุนต่างๆที่น่าจะช่วยเอื้อหนุนการเติบโตของตลาดทุนไทยในระยะต่อไป เช่น ความเป็นไปได้ที่จะให้มีการยกเลิกมาตรการกันสำรองเงินทุนนำเข้าระยะสั้น การผ่อนคลายเกณฑ์การลงทุนในต่างประเทศเพิ่มขึ้นในอนาคต อาทิเช่น การอนุญาตให้บริษัทหลักทรัพย์สามารถลงทุนในต่างประเทศทั้งเพื่อตนเองและเพื่อบัญชีของลูกค้าเพิ่มขึ้น อาจจะเป็นการช่วยขยายช่องทางการทำธุรกิจของบริษัทหลักทรัพย์ ซึ่งอาจทำให้มีผู้ที่เล็งเห็นโอกาสทางธุรกิจที่เพิ่มขึ้นดังกล่าวเข้ามาจัดตั้งบริษัทหลักทรัพย์ในประเทศไทย โดยเฉพาะสถาบันการเงินต่างชาติ แต่เมื่อพิจารณาเงื่อนไขประการอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นการเเข่งขันที่เพิ่มขึ้นของธุรกิจหลักทรัพย์ การที่ตลาดทุนไทยยังมีขนาดเล็กและมีสินค้าในตลาดไม่มากนัก ขณะที่การเปิดเสรีค่าธรรมเนียมการซื้อขายอาจจะส่งผลให้ผลกำไรที่ประกอบการจะได้รับลดลงได้ในระยะต่อไป ซึ่งจะกระทบต่อความน่าสนใจในการเข้ามาทำธุรกิจสำหรับผู้ประกอบการรายใหม่ ซึ่งท้ายที่สุดแล้วอาจจะทำให้มีความเป็นไปได้ที่จำนวนผู้ประกอบการอาจไม่เพิ่มขึ้นมากนัก นอกจากนั้นแล้ว บริษัทหลักทรัพย์ต่างชาติอาจจะต้องพิจารณาชั่งน้ำหนักระหว่างต้นทุนในการเข้ามาประกอบธุรกิจด้วยตนเองโดยตรงในประเทศไทยกับผลตอบแทนที่คาดว่าจะได้รับ กับการเลือกที่จะเข้ามาทำธุรกิจในลักษณะของการเป็นพันธมิตรกับบริษัทหลักทรัพย์ของไทยแทน แต่ไม่ว่ารูปแบบการดำเนินธุรกิจจะออกมาในลักษณะใดการแข่งขันที่รุนแรงขึ้นในธุรกิจดังกล่าวคงเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ในอนาคต

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


ตลาดการเงิน